Burapha University Archives

จดหมายเหตุมหาวิทยาลัยบูรพา

BURAPHA UNIVERSITY ARCHIVES

สัมภาษณ์ผู้ช่วยศาสตราจารย์วาณี ฐานปนวงศ์ศาสนติ

อดีตท่านเป็นหัวห้องสมุด วิทยาลัยการศึกษา บางแสนและมหาวิทยาลัยศรีครินทรวิโรฒ บางแสน
หัวหน้าภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
ในหัวข้อ
๑. ความเป็นมาของห้องสมุดสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งผู้บริหาร
๒. การบริหารงานห้องสมุดสมัยนั้น
๓. ผู้บริหารห้องสมุดตั้งแต่เริ่มแรก

สำนักหอสมุด: ความเป็นมาของห้องสมุดสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งผู้บริหาร

ผศ.วาณี ฐานปนวงศ์ศาสนติ:

ดิฉันเข้ามารับหน้าที่ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ในช่วงนั้น ดร.อนงค์ วิเศษสุวรรณ ไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงนั้นไม่มีเจ้าหน้าที่จึงเข้าทำงาน และตอนนั้นยังไม่มีตำแหน่งบรรณารักษ์ ส่วนใหญ่เป็นอาจารย์ที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ห้องสมุด ตามวิชาชีพที่จบมา เท่าที่ทราบเดิมทีเดียวห้องสมุดแห่งนี้เริ่มมีบรรณารักษ์คนแรกที่เป็นหลักฐานอยู่ คิดว่าน่าจะเป็นอาจารย์ ศรีทอง สีหาพงษ์ ท่านปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เริ่มที่เป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษา บางแสน ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ แต่ว่าสถานที่ตั้งนั้นไม่แน่ใจว่าตั้งที่ใด บางคนบอกว่าเริ่มตั้งแต่มีตึกอำนวยการคือปี พ.ศ. ๒๔๙๙ เริ่มสร้างคิดว่าน่าจะเป็นปี พ.ศ. ๒๕๐๐ มากกว่า ต่อมาก็ย้ายมาที่เรียกว่าตึกแอล ตามรูปแบบลักษณะของอาคาร ตอนนั้นรู้สึกจะมีแค่ ๒ ตึก (ตึกอำนวยการ, ตึกแอล) ข้างล่างเป็นห้องสมุด ส่วนข้างบนเป็นห้องพักอาจารย์และเป็นห้องเรียนด้วย เมื่อมีการสร้างพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำเค็มจะอยู่ซีกตะวันออก ส่วนซีกตะวันตกเป็นห้องสมุด ตอนที่เข้ามารับหน้าที่นั้น ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ก็มีเจ้าหน้าที่เป็นลูกจ้างประจำ ๒ คน เป็นเจ้าหน้าที่พิมพ์ดีด ๑ คน และเจ้าหน้าที่ธุรการ ๑ คน และมีนักการภารโรง ๑ คน นอกนั้นก็จะมีอาจารย์มาช่วย ๑ คนและใีนิสิตช่วยงาน ๑๐ คน ซึ่งได้รับค่าจ้างเป็นอัตราเหมาจ่ายวันละ ๑๕ บาท ในยุคนั้นวันละ ๑๕ บาท นิสิตสามารถใช้เงินตรงนี้เรียนจนจบได้โดยไม่ต้องอาศัยเงินจากทางบ้าน นับว่าเป็นการช่วยนิสิตขาดแคลนในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี ในช่วงนั้นเริ่มมีภาคสมทบ ห้องสมุดเปิดทำการจันทร์, พุธ และศุกร์ เวลา ๗.๓๐-๒๐.๐๐ น. และวันอังคาร และวันพฤหัสบดี เวลา ๗.๓๐-๑๗.๐๐ น. ในช่วงนั้นวันจันทร์, พุธ และศุกร์ จะมีเจ้าหน้าที่ที่เป็นอาจารย์อาสาสมัคร มีการจ้างเป็นรายวัน ตอนที่ดิฉันเข้ามารับหน้าที่ เป็นช่วงที่ห้องสมุดกำลังปรับปรุง คืองบประมาณที่ได้ช่วงนั้นเพิ่มจากหมื่นเป็นแสนบาท สมัยนั้นก็เท่ากับล้านบาทสมัยนี้ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ก็มีอาจารย์สั่งซื้อหนังสือมากและเมื่อได้รับหนังสือที่สั่งเข้ามาแล้วก็ยังไม่ได้ดำเนินการเพื่อที่จะออกให้บริการ เพราะว่าไม่มีบุคลากรที่จะดำเนินการ อันดับแรกคือดำเนินการหนังสือส่วนนี้ออกให้บริหาร เพราะอาจารย์ต้องการที่จะได้หนังสือเพื่อประกอบการเรียนการสอน และมีนิสิตช่วยงานก็แบ่งงานบางส่วน
ในช่วงนั้น ห้องสมุดกำลังก่อสร้าง อยู่ฝั่งตรงข้ามอาคารเดิมเป็นอาคาร ๒ ชั้น ซึ่งลืมบอกไปว่าในตอนแรกที่วิทยาลัยวิชาการศึกษา
บางแสน สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เพราะฉะนั้นรูปแบบของห้องสมุดนั้นก็จะเหมือนกันทั่วประเทศ ซึ่งเหมือนกับห้องสมุดวิทยาลัยครู แบบแแปลนเดียวกันหมด ก็ดูว่าใหญ่โต พอมารับหน้าที่ประมาณไม่ถึงปี ก็เลยต้องวางแผนขนย้ายจากตึกแอล มายังสำนักหอสมุดใหม่ เป็นอาคาร ๒ ชั้น ก็ถือโอกาสเอาวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็นปีที่ทำการย้าย โดยใช้แรงงานคนงานกับแรงงานนิสิตช่วยงานเท่านั้นเอง ระบบขนย้ายตอนนั้นก็พยายามควบคุมทุกระยะ แต่โชคคดีที่ว่าทุกคนตั้งใจทำงานภายใน ๒ วัน เผอิญเราได้อาจารย์ช่วยงานคือ ดร.ปิยะนุช คนฉลาด ตอนนั้นท่านก็เป็นอาจารย์อัตราจ้างมาช่วย และได้ท่านเป็นหัวแรงในการดำเนินงานตรงนี้ควบคุมนิสิตช่วยงาน
ในการขนย้ายอย่างดี แต่ก็มีบรรณารักษ์คนเดียว คือดิฉัน ดำเนินงานมาโดยตลอด หลังจากที่ย้ายแล้วก็มีนิสิตช่วยงานมากขึ้น เป็น
๒๐ คน และเพิ่มค่าจ้างเป็นวันละ ๒๐ บาท เป็นการเหมาจ่ายโชคดีที่เราได้นิสิตที่ตั้งใจทำงาน เมื่อได้ลูกศิษย์ที่ตั้งใจทำงาน การบริหารงานในยุคนั้น ซึ่งมีเพียงคณะศึกษาศาสตร์เพียงคณะเดียว นิสิตก็มีไม่มากแต่จะมีภาคสมทบ (นิสิตเรียนในภาคค่ำ) มากและมีปัญหาในการบริการให้ยืม เพราะนิสิตช่วยงานต้องอยู่เย็นตลอดเลย เป็นปัญหาในการทำงานสมัยนั้น และต่อมาก็เริ่มมีอาจารย์เข้ามาในภาควิชาเพิ่มอีก ๑ คน คืออาจารย์มีชัย สมัยนั้นยังไม่มีตำแหน่งบรรณารักษ์ เพราะฉะนั้นอาจารย์ที่จบบรรณารักษ์มา โดยอัตโนมัติก็คือการมาทำงานในห้องสมุด สมัยก่อนเราได้อาจารย์มาทำงานห้องสมุดแล้วต้องสอนด้วย แต่ตอนนั้นไม่มีวิชาเอกแต่สอนวิชาพื้นฐานวิชาการใช้ห้องสมุด นิสิตทุกคนต้องเรียนจนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เปลี่ยนมาเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางแสน ช่วงนั้นเริ่มมีการแบ่งคณะต่างๆ เพิ่มขึ้น ภาควิชาบรรณารักษ์ก็ย้ายไปสังกัดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ อาจารย์ก็เริ่มผลิตวิชาเอก สมัยที่เป็นวิทยาลัยวิชา
การศึกษาบางแสน มีวิชาโทสอนให้กับ กศ.บ. เพราะฉะนั้นเราก็ได้แรงงานโดยอัตโนมัติจะว่าไปแล้วการทำงานสมัยนั้นไม่ค่อยมีปัญหาที่ว่าเราจะจัดกิจกรรมเราก็ได้นิสิตมาช่วยทำงาน แต่เราทุกคนก็เต็มใจทำงาน ทำให้ง่ายขึ้น ภาควิชาบรรณารักษ์นี้เริ่มพัฒนาปี ๒๕๑๗ แต่เริ่มรับปี ๒๕๑๙ ตอนนี้เริ่มมีอาจารย์ในภาควิชาเพิ่มมากขึ้นมมีอาจารย์ที่รับโอนมาหลายคนจาก ๒ คนเป็น ๖ คน จนกระทั่งปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๔๑) มีนักเรียนทุนอีก ๒ คน เป็น ๘ คน ตอนหลังเมื่อมีการผลิตวิชาเอกบรรณารักษ์เริ่มมีขึ้น อาจารย์บรรณารักษ์ก็ขอตัวว่าไม่เข้าไปช่วยงานในห้องสมุด จนกระทั่งปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๔๑) แต่เราก็ยังได้สัมพันธ์ไมตรีที่ดีต่อกัน ห้องสมุดเริ่มเปลี่ยนเป็นสำนักหอสมุด
ประมาณปลายๆ ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางแสน จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๓๓ เป็นมหาวิทยาลัยบูรพา สถานภาพห้องสมุด
เทียบเท่าคณะ การแบ่งสายงานบริหารชัดเจนขึ้น ไม่เหมือนกับยุคแรกๆ เพราะสมัยยุคแรกๆ คนที่ทำหลายหน้าที่ไปเป็นการมอบหมายงาน ใครถนัดทางไหนก็ให้ทำทางนั้น แต่ทุกคนก็สามารถทำงานได้ทุกอย่างเหมือนกับนิสิตช่วยงานและให้หมุนเวียนการทำงาน

สำนักหอสมุด: สมัยนั้นมีผู้บริหารของสำนักหอสมุดท่านใดบ้าง

ผศ.วาณี ฐานปนวงศ์ศาสนติ:

ถ้าจะให้ลำดับเริ่มแรกคิดเป็นอาจารย์ศรีทอง สีหาพงษ์ ไม่ทราบว่าท่านทำงานกี่ปี ต่อมาเป็น ดร.บรรจง จันทรสา ปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๔๑) ท่านเกษียณอายุไปแล้ว ตอนเป็นท่านเข้ามารับหน้าที่และท่านก็ลาศึกษาต่อที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา และผู้ที่รับหน้าที่ต่อจากท่านก็เป็นอาจารย์สวัสดิ์ เรืองวิเศษ เข้ามาปฏิบัติหน้าที่อยู่พักหนึ่ง และเป็น ดร.อนงค์ วิเศษสุวรรณ ไม่แน่ใจว่าปีหรือ ๒ ปี เพราะดิฉันก็มารับ
ช่วงต่อจาก ดร. อนงค์ วิเศษสุวรรณ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ซึ่งท่านกำลังจะไปศึกษาต่อเหมือนกัน ดิฉันเริ่มตั้งแต่ ๒๕๑๕-๒๕๒๒ ปี ๒๕๒๒
เป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางแสน และได้มีการเปลี่ยนผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ดิฉันก็เลยถือโอกาสลาออก เพราะในช่วงการทำงานนั้นมากแล้ว ๖ ปี การทำงานของคนถ้าทำงานมากๆ แล้วจะไม่มีอะไรพัฒนา และคิดว่าอยากจะทำหน้าที่ทางด้านภาควิชาบรรณารักษ์ ให้เข้มขึ้นก็เลยขอลาออก ตอนนั้นยังเป็นอัตราแต่งตั้ง ในยุคนั้น ดร.ทวี หอมชง เป็นรองอธิการบดี ได้มีการแต่งตั้งอาจารย์ปราณี เชียงทอง เข้ามารับหน้าที่แทน ในช่วงนี้ได้เริ่มมีการบัญญัติเกี่ยวกับตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักหอสมุด ผู้ที่ดำรงตำแหน่งจะต้องเป็นอาจารย์เท่านั้นและมีการกำหนดวาระ ๔ ปี ในช่วงนั้นอาจารย์ปราณี เชียงทอง ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักหอสมุดได้
๔ ปี และมีการเลือกตั้ง อาจารย์สวัสดิ์ เรืองวิเศษ ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักหอสมุดต่อจากอาจารย์ปราณี เชียงทอง อาจารย์ในภาควิชาบรรณารักษ์ก็ต้องหมุนเวียนกันโดยอัตโนมัติ หลังจากที่อาจารย์สวัสดิ์ เรืองวิเศษ ครบวาระ อาจารย์วิจิตรภาณี สุภากร ดำรงตำแหน่งแทนในช่วงที่อาจารย์วิจิตรภาณี สุภากร เข้ามาปฏิบัตินั้น เป็นช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ซึ่งเป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นมหาวิทยาลัยบูรพา ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักหอสมุด ได้มีการเปลี่ยนเป็น ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักหอสมุด ในช่วงที่อาจารย์วิจิตรภาณี สุภากร ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักหอสมุด ได้มีการแบ่งสายงานภายในสำนักหอสมุด ค่อนข้างชัดเจนและได้มีผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยบูรพาคนแรกคือ ดร.ศรีวรรณ ยอดนิล จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๔๑) 

สำนักหอสมุด: เรื่องการบริหารเงินงบประมาณ

ผศ.วาณี ฐานปนวงศ์ศาสนติ:

ในช่วงแรกที่ดิฉันเข้ามาทำงานงบประมาณไม่มีปัญหาเลย เพราะว่าวิทยาลัยวิชาการศึกษา ในช่วงนั้นนิสิตภาคสมทบมีจำนวนมากกว่านิสิตประจำ เพราะฉะนั้นค่าบำรุงห้องสมุด ซึ่งเก็บจากนิสิตในสมัยที่ ดร.เฉลิมวงศ์ วัจนสุนทร เป็นรองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางแสน ท่านสนใจทานด้านการศึกษาและให้ความสำคัญกับห้องสมุด เพราะฉะนั้นห้องสมุดของงบประมาณในการจัดซื้อหนังสือหรือวัสดุอื่นๆ แล้วมักจะได้เสมอ โดยให้ความสะดวกและรวดเร็วมาก ห้องสมุดยุคนั้นจะการจัดซื้อหนังสือเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อที่จะไปเลือกหนังสือใหม่ๆ จากสำนักพิมพ์ต่างๆ หากได้หนังสือก็รีบดำเนินการเรื่องขออนุมัติการจัดซื้อภายใน ๑ อาทิตย์ จะมีหนังสือเข้าห้องสมุดตลอดเวลา เพียงแต่ว่าไม่มีบุคลากรที่จะช่วยดำเนินการเพื่อให้ทันกับการให้บริการแก่อาจารย์และนิสิต แต่ก็ได้อาจารย์จากภาควิชาเข้ามาช่วยดำเนินการ หนังสือก็เลยไม่มีปัญหา และช่วงนั้นเริ่มมีอาจารย์รุ่นใหม่ๆ มากขึ้น อาจารย์แต่ละท่านก็จะมาเสนอหนังสือใหม่ๆ จำนวนมาก การเงินเมื่อเทียบในสมัยนั้น (ประมาณ พ.ศ. ๒๕๒๒) มีจำนวนเงินเป็นล้านบาท แต่เกิดการติดขัด เพราะดำเนินการซื้อโดยวิธีตกลงราคา ไม่ได้ใช้วิธีประมูล วิธีตกลงราคาวงเงินไม่เกิน ๒,๐๐๐ บาท (พ.ศ. ๒๕๒๒) ต้องมีใบสืบราคา ทำให้ในปีหนึ่งใช้เงินประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ บาท งบประมาณที่ได้เป็นเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย การบริหารเงินไม่ค่อยมีปัญหา แต่หนักใจเรื่องการบริหารงานบุคลากร เพราะมีบุคลากรน้อยแต่เราก็ได้นิสิตช่วยงานมาปฏิบัติงานจาก ๑๕ คน เป็น ๒๐ คน และอัตราค่าจ้างเป็น ๒๕ บาทต่อวัน สมัยนั้น (พ.ศ. ๒๕๒๒) ห้องสมุดจะเป็นสถานที่รวมการจัดกิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ได้แก่มีการอภิปรายอาทิตย์ละ ๒-๓ ครั้ง ภาควิชาต่างๆ มาขอใช้สถานที่จัด และกิจกรรมของมหาวิทยาลัยเราเอง เช่น วัน ๘ กรกฎ, วันลอยกระทง, วันสำคัญต่างๆ และเป็นที่จัดละครของคณะมนุษยศาสตร์ ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เป็นปีแรก ที่สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยจัดงานสัปดาห์ห้องสมุด โดยใช้สถานที่ที่ห้องสมุดสมัยก่อนยังไม่มีวีดิโอเทปที่จะบันทึกรายการต่างๆ ก็เลยไม่มีการบันทึกตรงนี้ งานสัปดาห์ห้องสมุดสมัยนั้นจัดใหญ่มาก และมีการเชิญชวนให้โรงเรียนในภาคตะวันออกเข้าประกวด สมัยนั้นนับว่าในการจัดกิจกรรมจะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี

สำนักหอสมุด: ประวัติมหาวิทยาลัย

ผศ.วาณี ฐานปนวงศ์ศาสนติ:

เริ่มในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เริ่มก่อตั้ง วิทยาลัยวิชาการศึกษา บางแสน สังกัดกระทรวงศึกษา
ต่อมา พ.ศ. ๒๕๑๗ เปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางแสน ไม่แน่ใจว่าได้มีการสังกัดกับสำนักนายกรัฐมนตรีอยู่ระยะหนึ่ง และถึงมาสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย

อาคารห้องสมุด
อาจารย์จำเนียร สงวนพวก ได้เคยปฏิบัติหน้าที่ซึ่งสมัยก่อนเรียกว่า ห้องหนังสือ อยู่ในตึกอำนวยการไม่แน่ใจว่าตรงนี้มีหลักฐาน
ตรงไหนบ้าง และพอมาอยู่ตึกแอล ปัจจุบันเป็นสาขาจิตรกรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ เป็นตึกห้องสมุดกับห้องเรียน นิสิตภาคสมทบ
รุ่นแรกปี พ.ศ. ๒๕๐๖ และต่อมาก็ย้ายมาสำนักหอสมุดเก่า ซึ่งปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๔๑) เป็นโครงการจัดตั้งสถาบันศิลปและวัฒนธรรม ตอนที่ดิฉันได้ปฏิบัติหน้าที่นั้น ดิฉันได้เขียนโครงการขยายห้องสมุด ขยายปีกของสำนักหอสมุดเก่า โครงการนี้เขียนไว้นานแล้ว เป็นอาคาร ๔ ชั้น ไม่ได้รับงบประมาณก็เป็นอันล้มไป จนกระทั่งมีอาคารหลังใหม่ ซึ่งเป็นอาคารหลังใหม่ ซึ่งเป็นอาคารปัจจุบัน คือ อาคาร
เทพรัตนราชสุดา

สิ่งแวดล้อมมหาวิทยาลัย
เพลงสถาบันยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับต้นมะพร้าว สมัยก่อนถนนสายที่เลี้ยวมาบางแสนก็จะมีต้นมะพร้าวตลอดทาง ๒ ข้างทาง และได้ตั้งชื่อกันตามต้นไม้ และปัจจุบันได้มีการรณรงค์จะปลูกต้นไม้และตั้งชื่อถนนตามที่ปลูกต้นไม้ สิ่งแวดล้อมพัฒนาตามยุคโลกาภิวัตร การประดับต้นไม้ยืนต้นก็เป็นสิ่งจำเป็นเพราะทุกวันนี้อากาศร้อน ได้มีอาจารย์พินิจ ภาควิชาชีววิทยา รณรงค์ปลูกมะพร้าว การคมนาคมสะดวกแต่ต้นไม้มีน้อย อยากให้มีการจัดทำสวนต้นไม้ในวรรณคดี อยากเสนอแนะให้มีการจัดเก็บเอกสารของมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะเป็นประวัติ, เหตุการณ์ต่างๆ, ใบปลิว, บัตรสนเท่ห์ ควรเก็บเพราะจะเป็นการบอกให้ทราบถึงลักษณะสังคมของเหตุการณ์ในสมัยนั้น

 

สัมภาษณ์โดย: สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยบูรพา
เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ เวลา ๑๐.๐๐ น.
ณ ห้องพักอาจารย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา