Burapha University Archives

จดหมายเหตุมหาวิทยาลัยบูรพา

BURAPHA UNIVERSITY ARCHIVES

สัมภาษณ์ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร. ผาสุข กุลละวณิชย์

 

ในหัวข้อเรื่อง
๑. ความเป็นมาของมหาวิทยาลัยบูรพา
๒. นโยบายและแนวทางการบริหารมหาวิทยาลัย
๓. การแปลี่ยนแปลงของมหาวิทยาลัยในด้านต่างๆ
๔. แนวทางการพัฒนามหาวิทยาลัยบูรพา

สำนักหอสมุด: เรียนถามอาจารย์ถึงทิศทางการบริหารมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน

อธิการบดี:

แผนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย มีทั้งแผนระยะยาวและระยะสั้น ระยะสั้นในช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่ประเทศประสบปัญหาเศรษฐกิจ ฉะนั้น งบประมาณต่างๆ ก็ถูกตัดไปมาก เรื่องของการลงทุนในช่วงนี้เกือบจะไม่มีอะไรใหม่เลย ไม่ว่าจะเป็นอาคารใหม่หรือครุภัณฑ์ใหม่ๆ ก็ศูนย์หมด แม้แต่เงินที่จะดำเนินการในแต่ละปีก็ลดลงเยอะ ดังนั้นในขณะนี้ก็จะเป็นการประคองตัวเท่าที่จะทำได้ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามเสริมสร้างอะไรบางอย่าง เช่น เรื่องการพัฒนาคน ซึ่งคอนข้างจะเป็นเรื่องยากก็ยังพยายามทำอยู่ ก็ใช้เงินรายได้บ้างซึ่งมีปัญหามาก ตั้งแต่งบประมาณลดลง มันก็จะเป็นภาระในเรื่องเงินรายได้มากขึ้น เราต้องนำเงินรายได้มาใช้มากขึ้น และขณะนี้เงินรายได้ก็ร่อยหรอลงไปเยอะ ในช่วงระยะสั้น ปี-2 ปี นี้ก็คงเป็นการประคองตัว ในส่วนโครงการที่มีอยู่ก็พอดำเนินการไปได้ แต่การดำเนินการใหญ่ๆ ก็ไม่มีเลย มีแต่ซ่อมบำรุงเล็กน้อยพอรักษาตัวไป ที่พอจะทำได้ก็คือการพัฒนาคน ซึ่งก็ต้องหาวิธีใหม่ๆ มาดำเนินการ ส่วนระยะยาวก็ตามเป้าหมายเดิมทั้งที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนดไว้ และทบวงมหาวิทยาลัยกำหนด ก็พยายามจะสนับสนุนสนับสนุนการเรียนการสอนระดับหลังปริญญาตรีให้มากขึ้น ซึ่งก็หมายถึงหลักสูตรตั้งแต่ประกาศนียบัตรชั้นสูง ปริญญาโท-เอก เราก็พยายามทำ ก็เป็นที่น่ายินดีว่าปีนี้เรามีหลักสูตรปริญญาเอกเป็นหลักสูตรแรก คือ บริหารการศึกษา ซึ่งเริ่มรับนิสิตแล้ว ตอนนี้เรามีนิสิตปริญญาเอกบริหารการศึกษา รุ่นแรก 3 คน แล้วก็มีหลักสูตรปริญญาเอกอื่นๆ ตามมาอีก เช่น ชีววิทยา เน้นในเรื่องวาริชศาสตร์ตอนนี้เกือบจะคลอดแล้ว แล้วมีวิทยาศาสตร์การกีฬาเกือบเสร็จแล้ว ส่วนระดับปริญญาโทมีแนวคิดจะขยายงานทางด้านบริหารธุรกิจ (EXFCUTIVE MBA) แล้วก็ทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์ (รปม.) ให้ขยายออกมาเป็นบัณฑิตวิทยาลัยเฉพาะทางคือ อาจจะเป็นคล้ายๆ สถาบันศศิน แต่เน้นในเรื่องบริหารธุรกิจ เน้นในเรื่องระดับปริญญาเอก, ปริญญาโท, และหลักสูตรอื่นๆ ด้วย แต่ทำให้เป็นบัณฑิตวิทยาลัยเฉพาะทางทั้ง MBA และ รัฐประศาสนศาสตร์ รัฐประศาสนาศาสตร์ก็จะตั้งให้เป็นวิทยาลัยบริหารรัฐกิจแต่ก็ยังไม่แน่นอน ส่วน MBA ก็ทำแบบเดียวกัน ส่วนเป้าหมายระยะยาวว่าเราจะมีสถาบันอย่างนี้ที่ดำเนินการนอกระบบราชการก็คงจะมีมากขึ้น ส่วนในแผนที่มีอยู่ก็จะต้องมีคณะแพทยศาสตร์ในปี ๒๕๔๔ ก็คงจะต้องล่าช่าออกไป แต่ขณะเดียวกันโครงการเปิดหลักสูตรวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเราดำเนินการไปแล้วก็คงต้องทำต่อไป แต่เรื่องคณะแพทยศาสตร์ซึ่งเป็นการลงทุนใหญ่ก็คงต้องช้ากว่าปี ๔๔ อาจจะอยู่ในแผนถัดไป เช่น แผนฯ ๙ ซึ่งผมยังคาดคะเนไม่ได้ ขึ้นอยู่กับประเทศว่าจะมีเงินเมื่อไหร่ อันนี้ก็เป็นเรื่องของวิชาการ จุดเน้นคงจะต้องอยู่ในระดับปริญญาโท-เอก มากขึ้น ส่วนการกระจายโอกาสทางการศึกษา ตอนนี้เราก็เปิดสอนหลากหลายสาขาวิชา ไม่ว่าจะคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ทางด้านพยาบาล, บริหารการศึกษาก็ทำแล้วทั้งระดับปริญญาตรีคือ บริหารการศึกษา และปริญญาโท ส่วนที่สระแก้วเรื่องที่ดินก็ยังไม่เรียบร้อยซะทีเดียว แต่เราก็มีสอนปริญญาโทการบริหารการศึกษา ที่สระแก้วอยู่แล้ว แต่เรื่องการจัดตั้งอาคารเรียนคงต้องรอสักระยะหนึ่ง เพราะเรื่องที่ดิน เรื่องงบประมาณยังไม่เรียบร้อย ขณะนี้อยู่ในการทำแผนแม่บทคือ ทำแผนว่าเราจะมีตึกอะไรบ้าง มีอะไรในมหาวิทยาลัยบ้าง อันนั้นก็เป็นการกระจายโอกาสทางการศึกษาไปยังท้องถิ่น นอกเหนือจากนี้เรายังมีโครงการเล็กๆ เรื่องของการกระจายโอกาสทางการศึกษาอีก ๑ โครงการ ซึ่งทำมาปีนี้เป็นปีที่ ๒ แล้ว คือ การให้โอกาสเด็กนักเรียนที่จบ ม.๖ ในท้องถิ่นที่อยู่ห่างไกล แต่ไม่มีโอกาสที่จะเรียนต่อเพราะปัญหาอะไรต่างๆ เราก็จะดำเนินการคัดเลือกแล้วก็รับเข้ามาเรียน โดยร่วมมือกับทางโรงเรียนที่อยู่ไกลๆ เหล่านั้น เราก็จะคัดเลือกมาเลยโดยไม่ต้องสอบ ซึ่งเราจะคัดเลือกร่วมกับครูในโรงเรียนนั้นจำนวนประมาณ ๕๐ คน อันนั้นก็จะเป็นการทดลองดูว่า เราจะให้โอกาสทางการศึกษาซึ่งถือว่าเป็นโอกาสจริงๆ ได้มากแค่ไหน นั่นก็เป็นเรื่องการเรียนการสอน แน่นอนว่าแนวทางการพัฒนาก็คงต้องดูรูปแบบว่าเราจะมีการเรียนการสอนที่ใหม่ขึ้น และก็ต้องแก้ไขปัญหาชั้นเรียนที่มีอยู่ คือ ชั้นเรียนที่มีขนาดใหญ่ได้หรือไม่ ซึ่งขณะนี้เราก็พบว่า เรามีชั้นเรียนขนาดใหญ่มากขึ้นๆ และเราก็ไม่แน่ใจว่าจะมีคุณภาพดีเหมือนเดิมหรือเปล่า ซึ่งบางที่ห้องเรียนขนาดใหญ่อาจจะดีในบางวิชาแต่ในบางวิชาอาจจะใช้ไม่ได้เลย แต่ตอนนี้ชั้นเรียนมีขนาดใหญ่ขึ้นเกือบทุกสาขาวิชาซึ่งเราก็ต้องดูว่าจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร จะทำอย่างไรถึงจะให้ผู้เรียนมีความรู้จริงๆ แต่ในหลายๆ แห่งที่ผมไปดูงานมา ชั้นเรียนเค้าก็ยังเล็กอยู่ ชั้นเรียนใหญ่ก็มีแต่ไม่มากนัก แต่ของเราชั้นเรียนใหญ่กลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และในเรื่องของการสอนทางไกลก็ต้องดูว่ามีประโยชน์จริงแค่ไหน เหมาะกับสาขาวิชาใด เราก็ยังไม่แน่ใจคงจะต้องมีการวิเคราะห์วิจัยกันว่าจะทำอย่างไร อันไหนจะเหมาะ อันไหนไม่เหมาะ และวจะแก้ไขยังไง อันนั้นก็เป็นเรื่องการเรียนการสอน ส่วนเรื่องกิจกรรมนิสิต ก็ยังเน้นว่าเป็นเรื่องของหลักสูตร คือ หมายถึงส่วนที่ขาดในหลักสูตร เราก็ต้องเสริมขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนิสิตระดับปริญญาตรี วึ่งต้องเน้นในหลายๆ จุด และให้มีความหลายหลากในกิจกรรมที่นิสิตจะได้รับไม่ว่าจะเป็นทางด้านกีฬา ทางด้านส่งเสริมความคิดหรือสนับสนุนวิชาการ ก็จะพยายามให้มีกิจกรรมหลากหลายมากขึ้น เป็นต้นว่า เราอยากเห็นนิสิตใช้คอมพิวเตอร์ได้ถึงกลางคืน หรือเราอยากจะเห็นว่านิสิตมีโอกาสทำงานมากขึ้น นิสิตที่ยากจนอาจจะได้ทำงานในมหาวิทยาลัยหารายได้บางส่วน เพื่อการดำรงชีวิตได้มากขึ้น ก็อยากจะฝากว่า ห้องสมุดก็ต้องเปิดกว้างขึ้น จะทำอย่างไรให้นิสิตมาช่วยดูแลตอนเย็นได้ ผมเชื่อว่าถ้าเปิดห้องสมุดตอนเย็นโดยให้แต่กำลังเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างคงไม่ไหว เพราะว่าข้าราชการหรือลูกจ้างก็ต้องกลับบ้านก็ต้องลองดูว่าทำอย่างไรถึงจะได้นิสิตมาช่วย แล้วทำอย่างไรถึงหัดให้เค้ารับผิดชอบได้ ผมว่าเรื่องนี้ท้าทายเหมือนกัน เพราะว่าถ้าใช้เพียงกำลังที่มีอยู่คงทนไม่ไหว เพราะ ๗ วันต่ออาทิตย์ แล้วเปิดถึงดึกคงรับไม่ได้ ต้องดูว่ามีวิธีอย่างไรก็ตามผมอยากเห็นว่า เรามีงานเล็กๆ น้อยๆ ในมหาวิทยาลัยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุด สำนักคอมพิวเตอร์ หรืออะไรก็แล้วแต่ดีกว่าที่จะให้นิสิตของเราไปเป็นเด็กเสิร์ฟข้างนอก ซึ่งมันล่อแหลมต่อความเสียหายมาก ก็เป็นนโยบายที่เราคิดจะปรับปรุง ก็พยายามจะให้มหาวิทยาลัยและบริเวณโดยรอบมหาวิทยาลัย เป็นศูนย์การศึกษาจริงๆ รวมทั้งเรื่องของการให้มีหอพักเอกชน ซึ่งมหาวิทยาลัยดูแลได้ คือ พยายามจะสร้างให้มหาวิทยาลัยเป็นทั้งศูนย์กลางการศึกษา, ศิลปวัฒนธรรม ในพื้นที่ตรงนี้ อันนั้นก็นเป็นนโยบายที่ผมคิดว่าจะต้องทำใน ๓-๔ ปี ข้างหน้า

สำนักหอสมุด: อยากจะเรียนถามถึงแนวทางการบริหารมหาวิทยาลัยในอนาคต

อธิการบดี:

แนวทางการบริหารมหาวิทยาลัยในเรื่องใหญ่คือ เรื่องการออกนอกระบบราชการซึ่งอันนี้ก็เป็นแนวทางที่รัฐบาลกำหนดมา รวมทั้ง IMF ก็กำหนดมาว่ามหาวิทยาลัยบทุกแห่งต้องออกนอกระบบราชการ ภายในปี ค.ศ. ๒๐๐๒ หรือ ๔ ปี ข้างหน้า ซึ่งเราก็ต้องรีบทำ โดยจะออกนอกระบบคล้ายกับจะเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ก็ไม่ใช่ ก็ต้องกำหนกกฎเกณฑ์อะไรต่างๆ ขึ้นมา แล้วก็ต้องทำให้เสร็จ ซึ่งทุกมหาวิทยาลัยก็พยายามรีบทำ ก็คงไม่รอถึงปี ๒๐๐๒ เพราะเราดูแล้ว คิดว่ายิ่งดำเนินการได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเป็นผลดีกับมหาวิทยาลัยมากขึ้น เพราะฉะนั้นก็คงพยายามทำโดยเร็วซึ่งก็คงจะต้องร่วมมือกันทั้งมหาวิทยาลัย สภาอาจารย์ ชมรมข้าราชการ ฯลฯ อันนั้นเป็นเรื่องที่ต้องคิดกัน

สัมภาษณ์โดย สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยบูรพา
วันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๑ เวลา ๐๙.๓๐ น.
ณ สำนักงานอธิการบดี ชั้น ๙