Burapha University Archives

จดหมายเหตุมหาวิทยาลัยบูรพา

BURAPHA UNIVERSITY ARCHIVES

สัมภาษณ์รองศาสตราจารย์เชาวน์ มณีวงษ์

อดีตอธิการบดีคนแรก มหาวิทยาลัยบูรพา
ในหัวข้อ
๑. ประวัติความเป็นของมหาวิทยาลัย
๒. เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น และการเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยที่ท่านอาจารย์ดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยบูรพา
๓. นโยบาย ทิศทาง และความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
๔. ลักษณะภูมิประเทศและสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัย ที่มีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เริ่มวิทยาลัยวิชาการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางแสน และมหาวิทยาลัยบูรพา

สำนักหอสมุด: ขอเรียนเชิญอาจารย์เล่าถึงเหตุการณ์และเรื่องราวต่างๆ ของมหาวิทยาลัยค่ะ

ร.ศ.เชาวน์ มณีวงษ์:

ที่จริงมหาวิทยาลัยนี้เกิดขึ้นมาจากการกระจายความเจริญทางด้านการศึกษา การกระจายโอกาสทางด้านการศึกษาไปสู่ประชาชน
หรือไปสู่ส่วนภูมิภาค เพราะว่าเดิมทีเดียววิทยาลัยวิชาการศึกษา บางแสน ถือว่าเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกที่มีการประสาทปริญญาตรีแผนกแรกของประเทศ ที่ออกมาจากส่วนกลางไปสู่ส่วนภูมิภาค แต่ว่าเหตุผลที่สำคัญในประวัติศาสตร์ของมัน ก็คือว่า วิทยาลัย
วิชาการศึกษา บางแสน เกิดขึ้นมาจากแนวความคิดในเรื่องการสร้างและการพัฒนาบุคลากร เพราะว่าประเทศชาติจะมีความเจริญก้าวหน้าต่อไปได้ ต้องสร้างคุณภาพของประชากรก่อน ที่นี้ก็มีการคิดกันว่าการจะสร้างคุณภาพของประชาชนก่อนนั้น ควรที่จะสร้างที่กลุ่มไหน นักคิดนักเขียนในขณะนั้นก็ไปนั่งคุยกัน ซึ่งมีนักวิชาการศึกษามากมาย กระทรวงศึกษาธิการ และทบวงมหาวิทยาลัยซึ่งสมัยก่อนไม่มีทบวง ก็รวมอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ ก็มานั่งคิดกัน ในที่สุดก็บอกว่าต้องพัฒนาคนที่จะไปสอนคนก่อน คือการที่จะให้คนทั้งหลายดี
ทั้งประเทศนั้นต้องเอาคนที่จะไปสอนคนนั้นให้ดีที่สุดเป็นแม่บทที่ดีที่สุด ก็คือ ครู เพราะฉะนั้นวิชาชีพครู จึงได้รับการพัฒนาขึ้น จากเดิมนั้นครูแท้ๆ จริงๆ ไม่เคยมีปริญญา มีแค่ ปม. สูงสุด คำว่า ปม. คือ ประโยคครูมัธยมสูงสุด เมื่อมีความคิดต่างๆ อย่างนี้ประกอบกับ
การวางแผนที่ดีของรัฐบาลในสมัยต้นๆ ในขณะนั้น ก็คือว่า ส่งคนไปศึกษาหาความรู้ต่างประเทศ ก็มีครูบาอาจารย์ต่างๆ ได้รับทุนไป
ต่างประเทศจำนวนมาก แล้วก็กลับเข้ามา พอกลับเข้ามาในช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่ U.S.A. กำลังเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของปรัชญาการศึกษากับวิธีการจัดการศึกษา วิธีการขยายความคิดเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาคน ส่วนใหญ่จะไปศึกษามาจาก “มิดเวส” (MIDWEST) คือ แถบกลางๆ ของอเมริกา แถบมิชิแกน อิลินอยส์ เรื่อยมา ไอโอวา อินเดียน่า เทนเนสซี แถวนี้ในกลุ่มตรงนี้เค้ามีความคิดในเรื่องของ
การสร้างอาชีพใหม่ เค้าเรียกว่าวิชาชีพครู ซึ่งแนวความคิดนี้มีความหลายๆ คนคิดกัน แต่คนที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงที่สำคัญที่สุดคือ
ศ.ดร.สาโรจน์ บัวศรี, หลวงสวัสดิ์ สาระพุท, ดร.ธำรง บัวศรี, อ.ก่อ สวัสดิพานิช, ดร.สุดใจ เหล่าสุนทร เหล่านี้ เป็นต้น พวกนี้ก็มี
ความคิดกันก็จึงต้องทำ ทำอย่างไรถึงจะยกวิชาชีพครูให้สูงขึ้นแล้วได้ปริญญาด้วย ในที่สุดก็ทำกันสำเร็จเมื่อปี ๒๔๙๖ ก็เรียกว่า
ก่อตั้งเป็น พ.ร.บ.วิทยาลัยวิชาการศึกษาขึ้น ก็ไปเอาที่ประสานมิตร ซึ่งขณะนั้นเป็นโรงเรียนครูชั้นสูง ประสานมิตร ขึ้นแห่งแรก
ที่ซอยประสานมิตร ปัจจุบันนี้แหละอีก ๒ ปีต่อมา ก็ขยายไปที่บางแสน ก่อนขยายไปที่บางแสนแนวความคิดของท่าน พล.อ.มังกร
พรหมโยธี บวกกับนักการศึกษาในสมัยนั้นว่าควรจะขยายอุดมศึกษาไปสู่ภูมิภาค คือเนื่องจากว่า พล.อ.มังกร ท่านมีบ้านพักตากอากาศ
อยู่บางแสนท่านก็มาบ่อย จอมพล.ป. ท่านก็มีบ้านพักตากอากาศอยู่เขาสามมุข พอท่านมาบ่อยท่านก็เห็น ก็คิดว่าตรงนี้น่าจะดี
ประการที่หนึ่ง ประการที่สอง ที่ตั้งปัจจุบันนี้เคยเป็นที่ของท่านคุณหญิงโทณะวณิก อะมนตรี ซึ่งพอคุณหญิงรู้ความคิดต่างๆ นี้ ก็เสนอขายให้ก็ประจวบกันพอดี พล.อ.มังกร ท่านก็เลยคิดว่าดี คงใช้ได้ซึ่งในขณะนั้นก็มีปลัดกระทรวงศึกษาธิการชื่อว่า นายนาค เทพหัสดิน ปลัดนาคมาดูที่ดูทางจะซื้อต่อ ที่จริงที่ที่เราตกลงกันนี้ตั้งแต่ในสมัย มล.ปิ่น มาลากุล แล้วในที่สุดก็ตกลงซื้อกันในราคาไร่ละ ๒ หมื่นบาทโดยประมาณ ประมาณ ๒๕๐ ไร่ มะพร้าวเต็มไปหมด แล้วก็เป็นที่ลุ่มที่ดอน เอกสารสิทธิ์ตรงนั้นก็คงไม่ระบุชัดเจนเท่าไหร่นัก คล้ายกับเป็นเอกสารสิทธิ์เฉยๆ ไม่มีโฉนดที่ดินอะไร ต่อมาภายหลังก็มี การรังวัด พอมีการรังวัดขึ้น ก็ปรากฎว่าการรังวัดต่างๆ นั้น ก็คิดว่าเอาแต่
ที่ดอนแล้วกันไม่เอาที่ลุ่ม ก็ได้ประมาณ ๓๐๐ กว่าไร่ หลังจากนั้นก็ได้เป็นเอกสารสิทธิ์ออกมา มหาวิทยาลัยถึงคราวแล้ว ก็ปรากฎว่าที่ลุ่มๆ ที่เราไม่เอา ต่อมาภายหลังมีการไปออกโฉนดกัน ยึดถือครองกัน เช่น ขณะมีการรังวัดแถวหน้าบ้าน อ.สมาน ศรีปัญญา ท้ายอยู่หลังบ้านพักอธิการบดี จริงๆ ที่ของเราต้องย้ายออกไปถึงหน้าบ้าน อ.สมาน แต่ปรากฎว่าตรงนั้นเป็นกะหลุกควาย คือ ที่ๆ ควายมานอนเกลือกกลิ้ง ที่มันก็ขาดไป เพราะควายมันเดินไปเดินมา ตอนที่มารังวัดก็ต้องลุยน้ำไป ทำให้ขี้เกียจเดิน เดินแต่ตรงที่ไม่มีน้ำ มหาวิทยาลัยก็เลยเสียพื้นที่ไปหลายส่วน หรืออย่างคณะวิศวะปัจจุบัน กว่าจะซื้อที่มาได้ ก็ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก จริงๆ แล้วควรจะเป็นของมหาวิทยาลัย แต่เราไม่ไปออกใบต่างๆ ที่ต่ำต่างๆ ชาวบ้านก็มาทำนา แล้วก็ออกเอกสารสิทธิ์ และมีอาจารย์ของเราบางคนไปซื้อที่ตรงนี้
มาเป็นของตัวเอง ก็เลยต้องมาจัดสรรขายกัน ในที่สุดมหาวิทยาลัยก็ต้องไปขอซื้อคืน ถ้าแต่ก่อนเรามองการณ์ไกลซื้อไว้ทั้งหมดมหาวิทยาลัยเราจะกว้างกว่านี้อีกเยอะ หลังจากได้ปุ๊บก็ประกาศรับนิสิตมาเรียน เราเรียกว่านิสิตวิทยาลัยวิชาการศึกษา ตอนนั้นอาจารย์
ก็จบ ม.๘ จากโรงเรียนวัดนวลนรดิษฐ์ ฝั่งธน อาจารย์ก็ไปสอบเข้าโรงเรียนนายเรืออากาศ สอบติดก็ไปเรียนนายเรืออากาศ รุ่นที่ ๒
รุ่นเดียว พล.อ.เกษตร โรจนนิล อาจารย์ไปเรียนอยู่ซัก ๒-๓ เดือน แต่เนื่องจากก่อนไปเรียนอาจารย์ไปเอาทุนกระทรวงศึกษามาเรียน
คือ ปป. เร่งเอาทุนมาเกือบปี ออกมาถ้าไม่เป็นครู ปรับ ๔ เท่า ก็เลยตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนนายเรืออากาศ พอลาออกก็เลยไปเป็นอาจารย์เก่าแก่ของเราก็มาบอกว่า ที่บางแสนเปิดวิทยาลัยวิชาการศึกษาแล้วนะ ไม่ไปเรียนเหรอ ๔ ปี ได้ปริญญาด้วย ขอทุนได้ด้วย ผมก็เลยมาโดยเค้าประกาศรับที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา วันสอบคัดเลือกประมาณกลางเดือนเมษายน ปรากฎว่าคนเยอะมากตอนแรกเค้าจะรับ ๔๐ คน แต่ไปๆ มาๆ ก็รับไป ๔๓ คน เค้าก็นัดให้มารายงานตัววันที่ ๑ มิถุนายน วันนั้นมี ดร.ธำรง บัวศรี สมัยนั้นเป็นรองอธิการบดี กับ อ.ดัด จันทนโภช เป็นครูใหญ่เก่า ท่านก็ส่งให้เราขึ้นรถของคุรุสภา จากเตรียมอุดมมาบางแสน รถวิ่งมาทางถนนเส้นเก่า รู้สึกตื่นเต้นปรากฎว่ามาถึงก็มีหอนอนอยู่แล้ว มีอาคารเรียนเสร็จ เช้าวันใหม่รุ่งขึ้นก็มีการอบรมกัน ถึงได้รู้ว่าตึกที่เราเห็นเป็นของโรงเรียนมัธยมของวิทยาลัยวิชาการศึกษาบางแสน จริงๆ มีแต่ป่า สรุปว่าเปิด ๒๔๙๘ แต่มาอาศัยวิทยาลัยบางแสนซึ่งเป็นโรงเรียน สังกัดกรมสามัญ ในขณะนั้นก็จึงเริ่มกระบวนการเรียนการสอนเกิดขึ้น จุดประสงค์หลักคือ ขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาไปสู่ภูมิภาค เราก็เป็นแห่งแรกที่ประสาทปริญญา คือ กศ.บ. ซึ่งในตอนแรกคนก็ไม่ค่อยยอมรับเพราะไม่รู้จัก กศ.บ. วิธีการเรียนก็ใหม่ หลักสูตรก็ใหม่ ใช้การศึกษาแบบมีพัฒนาการของ จอห์น ดิวอี้, กิล พาทริล, จอห์น ชายน์ อาจารย์ก็สอนโดยวิธี LEARNING BY DOLING แทนที่จะท่องจำก็ให้ไปคิดค้นเขียนทำการบ้าน มีรายงานหน้าชั้น เพราะฉะนั้นต้องเตรียมตัวตลอดเวลาไม่เหมือนการเรียนแบบเก่า เป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีใหม่หมดเลยแต่ก็สนุก ทำให้ผู้เรียนเกิดความเชื่อมั่นในตัวเอง ถือได้ว่าเป็นหลักสูตรที่สร้างให้คนมีความคิด ความอ่านได้ดี นี่คือกำเนิดวิทยาลัยวิชาการศึกษา บางแสน จริงๆ แต่ทุกวันนี้เวลาเรานึกถึงวิทยาลัยเรากลับนึกถึง ๘ กรกฎ คือวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๔๙๘ วันสถาปนาเป็นวันหลัก เพราะฉะนั้นเป็นวันที่เราได้รับงบประมาณมาดำเนินงานในการจัดสร้างอาคาร ๓ หลัง หลังที่ ๑ คือ อาคารอำนวยการ หลังที่ ๒, ๓ คือ
หอนอนหญิง ๑ หลัง ชาย ๑ หลัง วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๔๙๘ พล.อ.มังกร พรหมโยธี ก็มาทำพิธีวางศิลากฤษ์ อาจารย์ก็เป็นจ้าหน้าที่ นิสิตทั้งหมด ๔๑ คน ก็ไปตั้งแถวรับกัน พิธีก็เป็นไปอย่างราบเรียบ เราเลยถือเอาวันที่ ๘ กรกฎ เป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยและในประวัติศาสตร์การศึกษาของชาติเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับอุดมศึกษานั้นก็ถือได้ว่าแห่งแรกคือ วิทยาลัยวิชาการศึกษา บางแสน
แต่เนื่องจากมีสถานภาพเป็นเพียงมหาวิทยาลัยเลยไม่ดัง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เกิดขึ้นมาทีหลังจากความคิดอันเดียวกัน แต่เค้าได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ แล้วของเรายังมี
การแตกแขนงเป็นสาขา ทำให้พัฒนาลำบาก แต่ท่านผู้บริหารคนแรกของวิทยาลัยนี้คือ ดร.ธำรง บัวศรี ท่านบอกว่าถ้าหากท่านมีโอกาส ท่านจะพัฒนาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกให้ได้ แต่ท่านดำรงตำแหน่งได้เพียง ๔ ปี ก็ต้องโยกย้าย มหาวิทยาลัยเลยซบเซาไป
แต่ความคิดที่ ดร.ธำรง บัวศรี ให้ไว้กับนิสิต ๔ รุ่นแรก นั้นคือ ถ้ามีโอกาสเมื่อใดที่จะก่อให้เกิดเป็นมหาวิทยาลัยขึ้นมาได้ พวกเราจะต้องต่อสู้ต้องทำให้มหาวิทยาลัยเป็นตัวของตัวเองเพื่อสร้างเอกลักษณ์สร้างความเป็นปึกแผ่น แล้วบังเอิญมีเรื่องการเมือง เรื่องต่างๆ เกิดขึ้นในจังหวะที่พอดี ขณะนั้นอาจารย์เป็นรองอธิการบดี วิทยาเขต ถือเป็นหัวหน้าสถานศึกษาแห่งนี้ก็เดินหน้าเต็มที่ ในที่สุดก็ได้เป็นมหาวิทยาลัย และมีการพัฒนามาเป็นลำดับ มหาวิทยาลัยแห่งนี้น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดี ที่ทุกคนกล่าวขวัญถึงโดยเฉพาะในภูมิภาค เพราะมหาวิทยาลัยนี้เกิดขึ้นมาด้วยความรู้สึกในการที่จะดูแลรับใช้ด้านวิชาการของสังคม โดยเฉพาะสังคมตะวันออก โดยเฉพาะโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก ซึ่งใน พ.ร.บ. ได้ระบุไว้ คนที่ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารทุกระดับน่าจะไปเปิดดูว่าตัวเองได้ทำตามเจตนารมย์หรือไม่ เพราะโครงการต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเป็นโครงการที่รองรับการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคตะวันออ กับโครงการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่เราคาดการณ์ไว้แล้วว่า อีก ๑๐-๑๒ ปี ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เราได้วางแผนไว้หมดแล้ว นี่คือความเป็นมาของมหาวิทยาลัยที่อยากให้
ทุกคนรู้เอาไว้ เพราะกว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยขึ้นมาได้ต้องทุ่มเทอย่างมาก

สำนักหอสมุด: จากที่เป็นมหาวิทยาลัยบูรพาเท่าที่ทราบมาอาจารย์เป็นอธิการบดีคนแรก อยากเรียนถามอาจารย์ถึงนโยบาย ทิศทางการเปลี่ยนแปลง และเหตุการณ์สำคัญๆ ที่อาจารย์ได้ทำการเปลี่ยนแปลงมาเป็นมหาวิทยาลัยบูรพา จากปีแรกจนถึงปัจจุบัน

ร.ศ.เชาวน์ มณีวงษ์:

ความเป็นมหาวิทยาลัยได้มีการพยายามกันมาทุกยุคทุกสมัย เป็นแล้วก็หาย พอมาช่วงสมัยอาจารย์ ก็มีความคิดกันว่าจะเปลี่ยนแปลงฐานะของมหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ อาจารย์ก็เลยเริ่มศึกษา อาจารย์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองอธิการบดีเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๐ สิ่งแรกที่คิดคือ คำพูดของ ดร.ธำรง บัวศรี เมื่อปี ๒๔๙๘ ที่ว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้ต้องสมบูรณ์แบบเป็นตัวของตัวเอง กับการที่ผู้บริหารคนก่อนๆ ได้พยายามทำแต่ไม่สำเร็จ อาจารย์ก็เลยนำสิ่งเหล่านี้มาเป็นจุดมุ่งหมายในการทำงาน จึงได้วิเคราะห์หาสาเหตุว่ามหาวิทยาลัยต่างๆ พัฒนาขึ้นมาเพราะอะไร ก็คิดได้ว่าเหตุผลที่เกิดขึ้นมาไม่ใช่เรื่องของปรัชญา หรือแผน
พัฒนาชาติ แต่เกิดขึ้นมาจากความผูกพันทางการเมืองทั้งสิ้น ถ้าจะทำให้สำเร็จไม่เล่นการเมืองไม่มีทาง เพราะบ้านเราขึ้นอยู่กับ พ.ร.บ. เพราะฉะนั้นจะเล่นการเมืองอย่างไรให้ได้ประโยชน์ ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ก็เริ่มเล่นการเมือง ใครก็ได้ที่เห็นความสำคัญของเรา แล้วก็พยายามเสนอความคิดให้ทราบ นักการเมืองหลายคนโดยเฉพาะ ส.ส.ชลบุรี ก็สนใจ เราบอกเค้าว่าที่นี่สร้างมาตั้งแต่ปี ๒๔๙๘ สมควรเป็นมหาวิทยาลัยได้แล้ว ทุกคนก็เห็นว่าอีสเทิร์นบอร์ดกำลังจะเกิดขึ้น ในที่สุดคณะกรรมการก็ไปนำโครงการเก่าๆ กลับมาใหม่ แล้วเชิญนักการเมือง อาจารย์ก็ดูว่าใครมีอิทธิพลในช่วงนั้นมากที่สุด เห็นว่าเป็น พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน เป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น แล้วก็เป็นคนริเริ่มอิสเทร์นซีบอร์ดด้วย อาจารย์ก็เลยไปหาท่านที่ทำเนียบกับนายกสมาคมศิษย์เก่าในขณะนั้น ท่านก็ชอบให้นำเรื่องมา ก็ปรากฎว่ารัฐบาลนั้นล้มไป แต่ความพอดีก็เกิดขึ้นที่ พล.อ.ชาติชาย มีความคิดที่จะสร้างมหาวิทยาลัยที่โคราชเหมือนกัน ก็เลยผนวกว่าเมื่อท่านจะสร้างที่โคราชก็ขอบางแสนพ่วงไปด้วยจึงสำเร็จ แล้วก็ยังมีมหาวิทยาลัยนเรศวรที่พิษณุโลกกับอุบลราชธานี ซึ่งเป็นวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยขอนแก่น พล.อ.ชาติชาย ก็เร่งทบวงให้พัฒนาสถาบันที่มีอยู่แล้วให้เป็นมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค ทบวงก็เรียกระดมพลทำโครงการสร้างมหาวิทยาลัยใหม่ทั้งหมด ๔ โครงการ มีการสัมมนาหลายครั้ง ที่สำคัญที่สุดคือที่ชะอำ อาจารย์ไปกับผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนก็นำโครงการไปเสนอแนะ ปรากฎว่าของเรามีศักยภาพในการจะเป็นมหาวิทยาลัยสูงที่สุด เพราะวิทยาลัยวิชาการศึกษา บางแสน มีชื่อเสียงมานาน ครูอาจารย์มีความสามารถ ศิษย์เก่าออกไปทำงานก็ได้ผลดีทั้งทางวิชาการก็เก่งสอบชิงทุนได้, ไปทำหน้าที่เป็นผู้บริหารหลายระดับ, กีฬาก็เก่งทั้งฟุตบอล บาสสเก็ตบอล ซอฟท์บอล เก่งจนถึงระดับกีฬาแห่งชาติ พอพูดถึงบางแสนแล้วภูมิใจ เรียนเก่ง เล่นกีฬาก็ดีลูกศิษย์ลูกหาไปทำงานที่ไหนก็หนักเอาเบาสู้ เพราะเราอยู่โรงเรียนกินนอน ครูอาจารย์ก็ปลูกฝังความเป็นคนดีมีคุณภาพ ให้เป็นคนอาสาทำงานในหน่วยงานที่ไปสังกัด ทำให้มีชื่อเสียงมาก ที่นี้เราก็ประเมินแผนของเราว่าเราจะสร้างมหาวิทยาลัยบูรพา ตอนแรกยังไม่รู้ชื่ออะไร มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกมั่ง ชื่ออื่นๆ มั่ง ความหมายครั้งแรกที่เราจะสร้างมหาวิทยาลัยก็คือ จะไม่ให้เหมือนกับมหาวิทยาลัยอื่น โดยเฉพาะคณะที่จะตั้งใหม่เราพยายามจะตั้งคณะที่ยังไม่มีในเมืองไทย หรือเป็นคณะที่ฉีกแนวในการทำงานไป เช่น คณะเกษตร แต่ไม่ใช่เกษตรพื้นฐาน เราอยากทำเกษตร อุตสาหกรรม อย่างนี้เป็นต้น คณะวิศวะ แต่จะเป็นประเภทวิศวะที่บุกงานใหม่ เช่น วิศวะชายฝั่ง อาจารย์เคยไปดูงานที่ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ก็เห็นว่าเมืองไทยโดยเฉพาะบางแสนทำแล้วเหมาะมาก เพราะเรามีฝั่งทะเลตั้ง ๑,๖๐๐ กม. ทรัพยากรในทะเลก็มากมายมหาศาล คนไทยเองไม่รู้ว่ามีอะไรบ้าง แต่ต่างประเทศรู้แล้วเค้าก็มีวิชาการในการที่จะมาสำรวจดู ดังนั้นเราต้องสร้างคนเพื่อจะได้รู้ว่าทรัพย์สมบัติของแผ่นดินอยู่ตรงไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทะเล แต่เราทำโครงการไปว่าจะทำคณะนี้ ผู้มีอำนาจเค้าบอกว่าไม่ได้ ไม่เคยมีใครทำ วิศวะเราก็เลยกลายเป็นวิศวะอย่างเดิม ซึ่งผมก็บอกว่าไม่จำเป็นถ้าอยากให้คนเพิ่มขึ้น ก็ให้จุฬาฯ ทำ ตอนนี้เรามีวิศวะอุตสาหกรรม ไฟฟ้า โยธา ทั่วๆ ไปไม่มีอะไรแปลก เราถามว่าวิศวะชายฝั่ง วิศวะวัสดุศาสตร์ (Packaging) มีหรือไม่ เป็นวิศวะกรรมในการออกแบบหีบห่อ บรรจุภัณฑ์ ครั้งหนึ่งอาจารย์ได้รับทุน Japan foundation ไปญี่ปุ่น ๓ อาทิตย์ อาจารย์ก็ไปในตลาดไปดูแอปเปิ้ล ก็เห็นมันบรรจุหีบห่ออย่างดี แต่พอเป็นมะม่วงจากบ้านเรากลับใส่เข่งไป ทำไมเราไม่ทำบรรจุภัณฑ์ สินค้าเราจะได้มีราคา บ้านเราเป็นสินค้าควรจะคิดว่าจะทำบรรจุภัณฑ์อย่างไร สินค้าเกษตรเราจะได้สู้เค้าได้เหมือนแอปเปิ้ล รวมทั้งสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ สินค้าเราดีกว่าประเทศอื่นเยอะโดยเฉพาะผลไม้ ถ้าเราทำบรรจุภัณฑ์อย่างดี ก็จะทำให้สินค้ามีคุณภาพมากขึ้น นั่นเป็นความคิดของอาจารย์ แต่ไม่ได้รับการสนองตอบก็เลยต้องทำวิศวะอย่างที่เห็น ส่วนทางด้านอื่นก็คิด เพราะมหาวิทยาลัยต้องเป็นชุมชนทางวิชาการโดยไม่มีขอบเขต เพราะฉะนั้นอาจารย์จะเกลียดคำว่า “ไม่มีที่ไหนเค้าทำกัน” มาก อาจารย์อยากจะถามว่าที่เราผลิตดอกเตอร์คนแรกคือใคร ก็ไม่มีใครรู้ ถ้าเราไม่ลองทำแล้วมันจะมีได้อย่างไร ถ้าเรามีความเชื่อในความสามารถที่เราจะทำ จะสร้าง องค์ความรู้ใหม่ วิชาชีพ แนวความคิดใหม่ มันก็ต้องลอง ถ้าไม่ได้หรือไม่ดีค่อยว่ากัน ไม่ใช่พอจะคิดอะไรใหม่ๆ ก็มาใช้คำนี้ผมไม่ชอบ อย่างธุรกิจท่องเที่ยวการโรงแรม อาจารย์ถือเป็นไฮไลท์เลยที่จะทำ เพราะเราอยู่ในอีสเทิร์นซีบอร์ด มีโรงแรมเยอะแยะ อาจารย์วางโครงการไว้แต่มันก็ไม่เป็นตามนั้น ในที่สุดก็คือมหาวิทยาลัยที่เหมือนเดิม เราก็มาดูว่ามีวิทยากรใหม่อะไรเกิดขึ้น สร้างคนใหม่ๆ ได้รู้จักคนเยอะเพื่อมาพัฒนางาน การเป็นมหาวิทยาลัยมันต้องมีทรัพยากรบริหาร ต้องมีองค์ประกอบมากมาย เช่น เงินทองพอใช้ไหม เพราะมหาวิทยาลัยเป็นตัวของตัวเอง แล้วอาคารสถานที่ อุปกรณ์การเรียน จะเอามาจากที่ไหน ที่สำคัญที่สุดคนจะทำอย่างไร ขณะนี้คนของเราในปัจจุบันอยู่กันอย่างเคยมากว่าอยู่กันอย่างควร คือ บางคนอยู่มาตั้งแต่เป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษา บางแสน เป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางแสน พอมาเป็นมหาวิทยาลัยบูรพา ก็ยังเหมือนเดิมไม่ได้เปลี่ยนแปลงความคิด วิธีการทำงานหรือโอกาสในการทำงาน ดังนั้น เราจะเตรียมคนเหล่านี้อย่างไร นั่นประการหนึ่ง ประการที่สองเราจะหาคนมาเพิ่มได้ยังไงที่จะเป็นกำลังในการทำงาน เพราะการที่จะเดินไปได้ต้องใช้คน ต้องเป็นทีม วิธีการเหล่านี้มันยุ่งยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเก่ากับทัศนคติเก่าๆ กับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิด สิ่งที่เราอยากเห็นในขณะนี้คือ สาขาวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ เดิมทีเดียวเราคิดว่าจะมีคณะแพทยศาสตร์ได้แล้ว มีวิทยาศาสตร์สุขภาพเกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่ได้เกิด แม้กระทั่งเมื่อปีที่แล้ว อาจารย์ไปประชุมที่กระทรวงสาธารณสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ๒ มหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เค้าทำโครงการแพทย์ชนบท อาจารย์ก็ไปบรรยายให้นักเรียนแพทย์ฟัง เค้าอยากให้เรารีบทำโครงการแพทย์ให้เสร็จ ซึ่งเราจะต้องทำคณะวิทยาศาสตร์ให้เข้มแข็ง เพราะมันเป็นพื้นฐาน เราก็กลับมาทำโครงการ แล้วคิดว่าปี ๔๑ จะเปิดโรงเรียนแพทย์ แต่ตอนนี้ก็ยังไม่สำเร็จ ไม่เป็นไปตามแผน ตอนนี้เราไปขยายวิทยาเขตที่จังหวัดสระแก้วกับจันทบุรี แต่อาจารย์อยากทำที่จังหวัดตราด มีคนให้ที่ ๓,๐๐๐ ไร่ แต่ไม่มีใครสนใจ เพราะอยู่ติดชายแดนเขมร ความคิดของอาจารย์ในทางวิชาการต่อมหาวิทยาลัยคือ หาทรัพยากรมาให้ได้เป็นภาระกิจสำคัญของผู้บริหารต้องทำให้ได้ อาจารย์เคยคิดว่าเราขาดอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ อาจารย์ก็ทำโครงการอาสาทางวิชาการอาจารย์วิศวกรรมศาสตร์ขึ้นมา แล้วก็ไปสำรวจตามสถานที่อุตสาหกรรมต่าง ก็เจอคนที่จบวิศวะฯ ประมาณ ๒๐๐ กว่าคน
ในจำนวนนี้ยินดีมาเป็นอาจารย์วิศวะที่บูรพา ประมาณ ๔๐ คน แต่มีเงื่อนไขเรื่องเวลา เค้าต้องมาสอนนอกเวลาทำงาน และต้องให้มหาวิทยาลัยประมวลการสอนให้ชัดเจน ว่าจะสอนเรื่องอะไร อย่างไร มีกิจกรรมการเรียนอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นคณะวิศวกรรมศาสตร์จึงต้องจัดการเรียนการสอนไม่เหมือนคนอื่น อาจจะต้องปรับตารางเรียนบ่อยๆ ตามเวลาทำงานของอาจารย์พิเศษ ก็ไม่ลำบากอะไร แต่สำหรับมหาวิทยาลัยเราจะชอบจัดการเรียนการสอนแบบต้องป้อนให้นิสิตตลอดเวลา ไม่ต้องดิ้นรนขวนขวาย ซึ่งจะทำให้ติดเป็นกิจนิสัย นานเข้าก็จะเปลี่ยนเป็นลักษณะนิสัย และสังคมนิสัยตามลำดับ ประเทศเราต้องสร้างกิจนิสัยของคนในชาติ เพื่อให้เป็นสังคมนิสัย หรือนิสัยของประเทศชาติ การจะพัฒนามหาวิทยาลัยต้องมีการวางแผน นึกถึงว่าในอนาคตข้างหน้ามหาวิทยาลัย เจ้าหน้าที่ นิสิต จะเป็นอย่างไรเมื่อคิดแล้วก็เอาทรัพยากรการบริหารใส่เข้าไปถึงจะเรียกว่าเป็นการบริหารที่มีเป้าหมาย เท่าที่ผ่านมาอาจารย์ใช้วิธีบริหารแบบนี้ ต้องทำให้ได้ ไม่ได้ก็ต้องทำ

สำนักหอสมุด: อยากให้อาจารย์เล่าถึงการผลักดันให้เป็นมหาวิทยาลัยบูรพา

ร.ศ.เชาวน์ มณีวงษ์:

ทำโครงการเข้าทบวงมหาวิทยาลัย ต่อจากนั้นก็ต้องเข้าสภา เพราะเรื่องต้องอยู่ใน พ.ร.บ. การเงิน ความสำคัญอยู่ตรงที่ว่า เมื่อรัฐบาลรับหลักการจะให้เป็นมหาวิทยาลัยแล้ว ซึ่งตอนนั้นมี ๔ ฉบับ คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยนเรศวร
และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แต่ปรากฏว่าในการประชุมสภาฯ ในวาระการประชุมมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีแห่งเดียว เราก็ตกใจ
ก็เลยไปปรึกษาทบวงมหาวิทยาลัย โดยผมกับคณะก็ไปหารือกับคุณทวิช กลิ่นประทุม รัฐมนตรีทบวงในขณะนั้น ท่านบอกว่างั้นก็เข้าสมัยประชุมหน้า เราก็ไม่ยอมเพราะจะว่าไปตอนนั้นมหาวิทยาลัยบูรพาพร้อมที่สุด ผมก็เลยตัดสินใจเข้าหานักการเมือง คือ คุณนิคม แสนเจริญ ส.ส. ชลบุรี ในขณะนั้น ท่านก็ให้คุณเทิดธรรม อัมราลิขิต ส.ส. ชลบุรี อีกคนมาดู คุณเทิดธรรม ก็ไปที่กองการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ก็พบว่าทางทบวงให้พิมพ์ พ.ร.บ. ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีฉบับเดียว ของที่อื่นไม่ให้พิมพ์ ฉะนั้นทางสภาฯ ก็จะไม่ได้รับเรื่องของเรา คุณนิคมก็เลยให้คุณเทิดธรรมไปทำให้ พ.ร.บ. ของมหาวิทยาลัยบูรพาได้รับการพิมพ์ เพื่อเสนอเข้าที่ประชุมสภาฯ ให้ทันสมัยประชุมนี้ โดยก่อนไปติดต่อกับคุณปัจจุ เกสรทอง ประธานสภาฯ ในขณะนั้น กระบวนการต่างๆ จึงถูกผลักดันให้เกิดขึ้นด้วยความพยายามอย่างมาก และการประชุมครั้งนั้นก็ได้มีการพิจารณา พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยทั้ง ๔ ฉบับ ซึ่งผมได้ไปสังเกตการณ์ด้วย พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีถูก ส.ส. อภิปรายกันมากเพราะมีปัญหาโดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ แต่ของมหาวิทยาลัยบูรพาไม่มีปัญหา แต่ตอนพิจารณา พ.ร.บ. ของมหาวิทยาลัยบูรพามีการทะเลาะกันในที่ประชุมจนถึงกับนับองค์ประชุม ซึ่งจะทำให้การประชุมหยุดชะงักตอนนั้นคุณนิคม แสนเจริญ ก็ไม่อยู่ในห้องประชุม ประธานสภาฯ ในขณะนั้น ซึ่งไม่ใช่คุณปัจจะ เพราะท่านลงบัลลังก์ไปแล้ว ก็ได้เชิญคุณปัจจะนั่งบัลลังก์อีกครั้ง จริงๆ แล้วการทะเลาะกันนั้นเป็นเรื่องของการขัดแย้งกันในข้อบังคับการประชุม เมื่อคุณปัจจะขึ้นไปทำหน้าที่ประธานสภาฯ อีกครั้ง ท่านได้เรียก ส.ส. ที่อยู่นอกห้องประชุมให้กลับเข้ามาเพื่อนับองค์ประชุม เวลาผ่านไปซักพักท่านก็บอกว่าครบองค์ประชุมแล้วให้ประชุมต่อได้ (จริงๆ แล้วไม่ครบ) พ.ร.บ. ของเราจึงผ่านได้โดยใช้เวลาพิจารณาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง อีก ๒ ฉบับที่เหลือก็ผ่านเช่นกัน หลังจากนั้นก็ผ่านวุฒิสมาชิก แล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษา เราถึงได้เป็นมหาวิทยาลัยโดยสมบูรณ์ ส่วนชื่อมหาวิทยาลัยก็มีคนเสนอกันเยอะเช่น มหาวิทยาลัยภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยเจษฎาบดินทร์ มหาวิทยาลัยสุรศักดิ์มนตรี ฯลฯ เราคิดกันตอนแรก เราอยากใช้ชื่อเดิมคือ มหาวิทยาลัยบางแสน เพราะชื่อนี้มีมาตั้งแต่ปี ๒๔๙๘ ทุกคนก็รู้จัก ปรากฏว่าคุณวิจิตร ศรีสะอ้าน ปลัดทบวงมหาวิทยาลัยในขณะนั้นไม่ยอม ท่านบอกว่าถ้าใช้ชื่อจังหวัด ท้องถิ่น ก็จะทำให้คนในท้องถิ่นนั้นรู้สึกเป็นเจ้าของมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เราก็เห็นด้วย เราก็เลยคิดใหม่ว่าจะใช้ชื่ออะไรที่มีความเกี่ยวข้อง บางคนก็เสนอมหาวิทยาลัยตากสิน ผมก็คิดมหาวิทยาลัยพรหมโยธี เพราะนึกถึงท่าน พล.อ.มังกร พรหมโยธี ก็รู้สึกว่าไม่เหมาะ และนึกได้ว่าท่าน พล.อ.มังกร เคยทำงานสำคัญ
คือ ท่านเป็นแม่ทัพบูรพา ตอนสู้กับฝรั่งเศส ก็เลยคิดถึงชื่อมหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งก็จะครอบคลุมทั้งหมด คือ จังหวัดภาคตะวันออก
ก็เลยเสนอชื่อนี้ ตอนแรกจะขอชื่อพระราชทาน แต่ก็ไม่ทัน จึงสรุปที่ชื่อมหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งปลัดทบวงฯ บอกว่าการนำชื่อเข้าไปเสนอ เพื่อให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย ก็ถือว่าเป็นชื่อพระราชทานเหมือนกัน จนทุกวันนี้คนก็จะเรียกกันจนติดปากว่า มหาวิทยาลัยบูรพา บางแสน เพราะจะได้รู้ว่าอยู่ที่ไหน เราก็ใช้เวลาซักพักที่จะทำให้คนรู้จัก เรามีการประชาสัมพันธ์ที่ดี มีอาจารย์ที่มีชื่อเสียง

สำนักหอสมุด: เท่าที่เห็นมหาวิทยาลัยบูรพามีการเปลี่ยนแปลงไปมาก อยากจะให้อาจารย์พูดถึงลักษณะภูมิประเทศและสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ร.ศ.เชาวน์ มณีวงษ์:

มหาวิทยาลัยบูรพา ก็เกิดขึ้นมาจากที่ของคุณหญิงโทณะวณิก อะมนตรี ที่จริงที่ดินผืนนี้เป็นของเชื้อพระวงศ์ เดิมเค้าเรียกสวนหลวง เป็นป่ามะพร้าวแต่ถูกละเลย นอกจากสวนมะพร้าวก็จะมีต้นสาปเสือ กันต้นตะบองเพชร ดงตะบองเพชรที่เยอะๆ ก็จะมีที่โรงอาหาร
(แคนทีน) กับหอหญิง แล้วมีต้นพุทรา พื้นที่เต็มไปด้วยป่า ที่สำคัญอีกอย่างคือ ที่จะเต็มไปด้วยศาลพระภูมิ เพราะชาวบ้านมาสร้างไว้ตั้งแต่เก่าผุพัง จนถึงใหม่เอี่ยมเพิ่งสร้าง แล้วบางส่วนทางฝั่งตะวันออกทางหอหญิงข้างใน ก็จะมีหลุมฝังศพ มีโครงกระดูก เพราะเคยเป็นป่าช้า มีศาลเจ้าของจีน ทีนี้เรื่องที่มีปัญหาคือ ศาลพระภูมิ เดิมทีมีเป็นร้อยๆ พอสร้างมหาวิทยาลัย เราก็เลยไม่รู้จะเอาศาลพระภูมิ
ไปไว้ที่ไหน ในที่สุดก็เอาไปไว้ที่วัดดอน คิดว่าไม่เป็นไร พอปี ๒๔๙๙ เราสร้างหอนอน ปลายปีก็เข้ามาอยู่ปี ๒๕๐๐ ก็มีเหตุการณ์ประหลาด คือ อาจารย์ที่คุมหอนอน อ.บุญส่ง วัฒนสาร ท่านฝันว่ามีคนๆ หนึ่ง นุ่งผ้าขาวม้าหยักรั้งสีแดง ไม่มีเสื้อ ตัวใหญ่มาก มาชี้หน้าท่าน
ว่ามึงเอาบ้านกูไปไว้ไหนหมด อ.บุญส่งก็เล่าให้อาจารย์คนอื่นฟัง ก็มีทั้งเชื่อและไม่เชื่อ แล้วเหตุการณ์ก็ผ่านไป ปี ๒๕๐๑ อาจารย์อยู่ปี ๓
ก็ปรากฏว่ามีนิสิตรุ่น ๒ คนหนึ่งไม่สบายไม่ทราบสาเหตุ ซึม ปวดหัว แล้วไม่ถึงสัปดาห์ก็เสียชีวิต ก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น พอถึงนิสิตรุ่น ๓ ชื่อเฉลา เป็นคนสวยมาก ก็มีลักษณะอาการเดียวกับคนก่อนแล้วก็เสียชีวิต ดร.ธำรง บัวศรี ก็เริ่มคิดว่านิสิตเราเสียชีวิตจะทำอย่างไร อ.ลดาวัลย์ นุสติ ก็เป็นคนรับผิดชอบไปติดต่อหลวงสุวิชาเป็นทหารเรือแต่เก่งเรื่องนั่งทางใน ท่านก็บอกว่าพวกคุณเอาบ้านเค้าไปไป
สร้างบ้านให้เค้าซะ ดร.ธำรง ก็เลยจัดพิธีบวงสรวง มีพราหมณ์มาทำพิธีตั้งศาลพระภูมิหน้ามหาวิทยาลัย ก็เรียบร้อยไม่มีปัญหาอะไร
ทีนี้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ท่านมีบ้านอยู่ที่แหลมแท่น ท่านเห็นพวกเราขี่จักรยานไปมา ท่านก็ถาม พล.อ.เนตร เขมะโยธิน ซึ่งเป็นเลขาท่านว่า พวกนี้โรงเรียนอะไร พล.อ.เนตร ก็บอกว่าเป็นโรงเรียนฝึดหัดครู มีผู้หญิงผู้ชายเรียนรวมกัน จอมพล.ป ท่านก็บอกไม่ดี ผู้หญิงผู้ชายอยู่รวมกันไม่ปลอดภัย ท่านก็สั่งให้ทำรั้วโดยใช้เงิน กศส. คือเงินช่วยเหลือทางด้านการศึกษและสาธารณสุข ทีนี้การทำรั้วถาวร
ของมหาวิทยาลัยก็ต้องไปขออนุญาตกรมทางฯ ก็ปรากฏว่ากึ่งกลางถนน เราต้องสร้างรั้ว ๑๕ เมตร กลายเป็นว่าศาลพระภูมิที่เราสร้างไว้ไปอยู่นอกรั้ว ก็เลยมีเหตุการณ์เดิมๆ เกิดขึ้นอีกคือ นิสิตป่วย เสียชีวิต ๒-๓ คน อ.ลดาวัลย์ ก็เลยไปหาหลวงสุวิชาอีก ท่านสั่งให้
ศาลพระภูมิมาไว้ในรั้ว ก็เลยทำพิธีครั้งที่สอง นิสิตรุ่นเก่าๆ จึงเคารพกราบไหว้ศาลพระภูมิหน้ามหาวิทยาลัยมาก สมัยที่ผมเป็นผู้บริหารก็ได้นำพระมาประดิษฐานเป็นพระที่ปั้นจากซากปรักหักพังของวัดป่าสาละวัน โคราช สมเด็จพระสังฆราชได้เสด็จมาบรรจุพระบรมสารีริกธาตุด้วยพระองค์เอง แต่ตอนนี้ไม่รู้หายไปไหน สมัยก่อนทางมหาวิทยาลัยมีทางเดียว คือ ประตูใหญ่ เส้นที่ผ่านหน้า ภปร.
แล้ววนไปออกประตูศูนย์แพทย์ ส่วนภายในตามตึกต่างๆ เรียกถนนชั้นสอง เดิมที่โล่งหน้ามหาวิทยาลัย ตรงหอชาย ๑๐ เก่า
(ตอนนี้เป็นหอหญิง) ตั้งใจจะเอาไว้ทำธุรกิจของมหาวิทยาลัย เพื่อหาเงินเข้ามหาวิทยาลัย แต่ตอนนี้ตัดถนนเข้าไปก็เลยเสียพื้นที่
แต่อนาคตที่ตรงนี้จะมีราคา ตอนแรกผมตั้งใจจะทำโรงแรม ศูนย์การค้าของมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างงานให้นิสิตและหารายได้ให้มหาวิทยาลัย อีกหน่อยก็จะได้เปิดวิชาการโรงแรม ขึ้นมารองรับแล้วเอานิสิตมาฝึกงาน แต่ตอนนี้คงทำไม่ได้ สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยได้มาจากการประกวด แต่ไม่มีใครได้ตำแหน่งชนะเลิศ คณะกรรมการก็เลยเอาหลายๆ แบบมาผสมผสานกัน จนเป็นแบบปัจจุบันสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยใช้เลข ๙ เป็นหลัก หมายถึง รัชสมัยของ ร.๙ ความก้าวหน้าการพัฒนา เลข ๙ จะล้อมรอบด้วยรัศมี ๘ แฉกหมายถึง อริยมรรค (อริยสัจ ๔-มรรค ๘) แต่ตอนหลังคนหมายความว่า ๘ จังหวัด ด้านล่างมีเส้นโค้ง หมายถึง น้ำทะเล ซึ่งจะมีการเคลื่อนที่ตลอดเวลา หมายถึงว่าเราจะมีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง แล้วก็ไปขอพระราชทานปรัชญาของมหาวิทยาลัย คือ สุโข ปัญญา ปฏิลาโภ ความได้ปัญญาทำให้เกิดสุข ๘ คำ เพราะมหาวิทยาลัยเกิดวันที่ ๘ เดือน ๘ ส่วนสีประจำมหาวิทยาลัยใช้สีเดิม ตั้งแต่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คือ เทา-ทอง เดิมของ มศว. เป็นเทา-แดง แต่เมื่อแยกวิทยาเขตก็ต้องให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดย
คงสีเทาไว้เพราะหมายถึงสมอง ดร.ธำรง เป็นคนคิดว่าควรใช้สีเทา-ทอง หมายถึง การคิดอย่างมีคุณธรรมและมีประโยชน์กับสังคม
ธงประจำมหาวิทยาลัยเราก็ใช้สีเทา-ทอง อย่างเดิมเหมือน มศว. แต่เปลี่ยนตรามหาวิทยาลัย วันเกิดมหาวิทยาลัยก็ยังคงเป็น ๘ กรกฎ เพราะสถานที่แห่งนี้เกิดเมื่อวันที่ ๘ กรกฎ การเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยก็เหมือนกับเป็นการพัฒนา การเจริญงอกงาม ชุดครุยของมหาวิทยาลัย ก็มีการพูดคุยกันมาก มีการออกแบบมาดูกัน แบบแรกเป็นแบบไทยๆ คล้ายจุฬาเป็นครุยโปร่ง แบบที่สองเป็นครุยทึบ
คนคิดคือ อ.สุชาติ เถาทอง และอีกแบบคือแบบสากล เป็นสีดำแล้วมี HOOD สีตามคณะ ก็มีการโหวตกัน สรุปแบบสากลได้รับการโหวตให้ชนะแต่ไม่มาก ส่วนของปริญญาโทเค้าอยากทำแบบของ มศว. คือเป็นครุยแขนสั้น แต่ผมไม่ยอมให้ใช้บั้งแทน จะได้รู้ว่าเป็นปริญญาโทแล้วมีสาปใหญ่ตามสีคณะ ปริญญาเอกก็มีสามบั้ง ทุกคนก็ยอมรับครุยปริญญาโทจะสวย เรื่องของสีประจำรุ่นเริ่มมามีตอนมีนิสิตรุ่น ๕ ผมเป็นอาจารย์แล้ว รุ่นที่ ๑ จะไม่เหมือนใคร ใช้สีขาว รุ่นที่ ๒ เหลือง-ดำ รุ่นที่ ๓ ขาว-แดง รุ่นที่ ๔ น้ำเงิน-ขาว รุ่นที่ ๕ เขียว-ขาว รุ่นที่ ๖ ก็วนไปเหลือง-ดำ อีก ส่วนชื่อรุ่นจะเปลี่ยนไป แล้วแต่จะตั้งกันเอง ส่วนใหญ่เป็นชื่อของสัตว์ในวรรณคดี เพลงมหาวิทยาลัยมีการร้องผิดบ่อยๆ ต้องเป็น “น้ำใจมีโอบเอื้อจุนเจือจาน” ตอนนี้ร้องเป็น “น้ำใจดีโอบเอื้อจุนเจือจาน” 

เรื่องเดินขบวน: เป็นเรื่องของคนสูญเสียอำนาจ เหมือนกับเป็นกรรมของมหาวิทยาลัยที่คนในจะอยู่ไม่ได้ มีการอิจฉาริษยากัน ถึงต้องเอาคนนอกมาเป็นผู้บริหาร ผมเชื่อว่าพวกนี้จะอยู่อย่างไม่ปกติสุข ช่วงที่ผมเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัย คนอยากเป็นกันเยอะ ฝุ่นก็ยังเยอะเหมือนเดิม แต่ก็ไม่เห็นมีใครจุดกระแส เพราะผมว่าคนที่จุดกระแสคราวนั้น ตอนนี้คงได้เข้าไปนั่งทำงานหมดแล้วอยากจะฝากว่าจะทำอะไรก็ตามต้องมีสติมีหิริโอตัปปะละอายต่อบาป การอิจฉาริษยา แก่งแย่งชิงดีกันไม่เกิดประโยชน์ ควรสนับสนุนคนที่ทำดีมีผลงานมากกว่า อาจารย์มองว่าการเดินขบวนครั้งนี้เป็นการปรุงแต่ง สาเหตุที่แท้จริงไม่ใช่เรื่องความไม่ปลอดภัยของนิสิต ไม่ใช่เรื่องสวัสดิภาพ สวัสดิการของนิสิต เป็นเพียงการหาเหตุ อาจารย์คิดว่าสิ่งที่ต้องการคือตัวอาจารย์เป็นต้นเหตุ เพราะเราเป็นอธิการฯ ถ้าเราไม่ได้เป็น
อธิการฯ คนเหล่านี้ก็จะไม่เคลื่อนไหว อาจารย์ถึงยอมเมื่อโครงการที่เราทำไว้เป็นรูปเป็นร่าง ก็เลยยอมออก แล้วขณะนี้คนที่ดำรงตำแหน่งทำอะไรบ้าง นิสิตก็ยังเป็นอยู่แบบสำหรับนิสิตที่ดำเนินการผมถือว่าเป็นรุ่นลูก ผมไม่ทำร้ายเค้า มีคนพยายามที่จะทำร้ายเด็กเหล่านี้เยอะแยะ เพื่อนฝูงผม คนมีบารมีในท้องถิ่น เด็กพวกนี้เงาหัวจะขาดเค้าจะเอามันตาย ผมต้องห้ามไว้เพราะผมถือว่าผมเป็นต้นเหตุ ผมยอมรับ
แทนเค้า อยากทำอะไรทำไปผมไม่ว่า แล้วในที่สุดเด็กเหล่านี้ก็คิดได้ ว่าตกเป็นเครื่องมือเค้า แต่กว่าจะคิดได้ก็สายแล้ว แล้วตอนนี้มีอะไรเดือดร้อนก็วิ่งมาหาผม นิสิตหรือมหาวิทยาลัยวิ่งมาของบประมาณกรรมการ ส.ส. ถ้าผมใจไม้ไส้ระกำผมตัดขาดไปแล้ว 

ย้อนมาพูดถึงหอสมุด: ผมเป็นคนออกแบบ ตอนแรกเค้าจะให้ไปอยู่ตรงคณะพยาบาลผมไม่ยอม เพราะที่ตั้งปัจจุบันนี้เป็นศูนย์รวมและสามารถเชื่อมกับห้องสมุดเดิมได้ ผมจะทำเป็นห้องสมุดอิเลคทรอนิกส์ ไลเบอรี่ เพราะผมไปดูงานที่ออสเตรเลียมา แต่ตอนนี้ก็ไม่ได้ทำอยากจะฝากว่า ของเก่าๆ ในมหาวิทยาลัยที่ยังใช้ประโยชน์ได้ให้รักษากันไว้ เพราะเราเป็นมหาวิทยาลัยที่มีประวัติศาสตร์ เราสร้างมาจากฐาน ๒ ฐาน คือ วิทยาศาสตร์ ความเจริญก้าวหน้าอีกฐานหนึ่งคือ มนุษยศาสตร์ หมายถึงความติดดิน ตั้งอยู่บนภราดรภาพ มีความสามัคคีกัน อย่าแบ่งพรรคแบ่งพวก เพราะมหาวิทยาลัยมีชีวิต ชีวิตของมหาวิทยาลัยคือทุกคนที่อยู่ที่นี่ ถ้าไม่มีความสามัคคีกัน จะหาความได้จากไหน มหาวิทยาลัยคงพัฒนาไม่ได้ ใครทำดีก็ควรส่งเสริมกัน มหาวิทยาลัยถึงจะไปรอด ฐานงบประมาณก็ต้องสร้างขึ้น
แต่ก่อนภาควิชาหนึ่งได้งบฯ ไม่กี่พัน แต่เดี๋ยวนี้ได้กันเป็นแสน เพราะผมกับดร.สุเมธ ผมเอาค่า FTS คูณจำนวนนิสิต สมมติคณะไหนมีนิสิต ๒๐ คน คุณก็รับไป ๒๐ คน แต่ถ้าคณะไหนมี ๑๐๐ คน คุณก็จะได้งบฯ สำหรับ ๑๐๐ คน แบบนี้คือใครขยันใครทำงานมาก ก็รับงบฯ ไปมาก แต่สำหรับคณะวิศวะฯ จะให้ตามจำนวนไม่ได้ ต้องให้ตามความสำคัญของงาน วิศวะฯ จะได้มาสองทางคือ ๑. งบประมาณรายหัวจากรัฐบาล ๒. มหาวิทยาลัยต้องแบ่งงบฯ ส่วนหนึ่งให้ เพราะเรื่องของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีต้องพัฒนาไปไกล อย่างศิลปกรรมศาสตร์ที่กำลังจะเกิดขึ้น นิสิตมีน้อยให้ตามจำนวนก็ไม่ได้ ถ้าอยากจะสร้างต้องสร้างจริยศาสตร์ จิตวิญญาณที่เป็นสุนทรีย เพื่อไปทำให้เกิดความแตกต่างกับด้านวิทยาศาสตร์ ด้านสังคมศาสตร์ เพราะมหาวิทยาลัยจะไปเน้นด้านวิทยาศาสตร์อย่างเดียวก็ไม่ได้ คนเราต้องมีสัดส่วนที่เหมาะสม นี่คือเป้าหมายของมหาวิทยาลัย ต้องส่งเสริมความคิดของคนทางด้านทฤษฎี ความรู้ ต้องทำเลยไม่ต้องคำนึงว่าผลิตแล้วนิสิตจะไม่มีงานทำ เพราะมหาวิทยาลัยต้องเป็น UNIVERSE ต้องครอบคลุม เราไม่ใช่โรงเรียนอาชีวะที่ผลิตเด็กออกมาแล้วต้องมี
งานทำ แต่ต้องทำสิ่งที่ประเทืองปัญญา ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องคิดตรงนี้ สังคมจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร เราจะมีอะไรรองรับได้ เพราะคนในสังคมเป็นทรัพยากรที่สำคัญของโลก ทุกวันนี้เราทำงานกันน้อย สมมติเอกหนึ่งรับนิสิตสัก ๒๐ คน เพราะว่ารับน้อยแล้วจะมีคุณภาพ แล้วเด็กที่เข้าเรียนไม่ได้อีกเท่าไหร่ที่เค้าไม่ได้โอกาสเข้าเรียน ทำไมเราไม่ทำงานกันเพิ่ม มหาวิทยาลัยลงทุนเพิ่มขึ้น เชื่อมั้ยว่าเรามองดูแต่ตัวเลขที่รับมา แต่เราไม่ได้นึกถึงตัวเราที่ต้องสูญเสียคือ ปีหนึ่งรับมา ๑๐๐ คน พอปี ๒ หายไป ๒๐ คน แล้วทำไมตรงนี้เรา
ไม่รองรับ สมมติเราต้องการ ๑๐๐ คน แต่เหลือ ๘๐ คน เราจะทำยัง เราต้องรับเผื่อไว้ให้เกิน ๑๐๐ คน อาจารย์อาจต้องเหนื่อยเพิ่มขึ้น แต่ถือเป็นการให้โอกาสคน แล้วมหาวิทยาลัยยังจะได้เงินจากพวกนี้เพิ่มขึ้น ทำให้งบฯ มากขึ้น เพราะฉะนั้นคิดในเรื่องวิชาการแล้ว ก็ยังได้ธุรกิจแฝงมาด้วย นี่ถ้าไปทำงานแบบนี้ในมหาวิทยาลัยเอกชน ถูกไล่ออกไปแล้ว เราดูแต่การรับแต่พอนิสิตจบไม่มีใครดูว่าครบตามเป้า
หรือไม่

สัมภาษณ์โดย สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยบูรพา
วันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ เวลา ๐๙.๓๐ น.
ณ สำนักงานพรรคชาติไทย จังหวัดชลบุรี