ภาควิชาสารสนเทศศึกษา

Menu

ความสำคัญและวัตถุประสงค์ของหลักสูตร

ความสำคัญของหลักสูตร

จากการเปลี่ยนแปลงมิติทางการศึกษา สังคม เศรษฐกิจ การเมือง และจากการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  รวมถึงสถานการณ์ที่โลกกำลังก้าวสู่สังคมยุคดิจิทัลในศตวรรษที่ 21 นั้น  ส่งผลและมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับยุคสังคมฐานความรู้ หรือยุคเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge based economy) ในปัจจุบัน ซึ่งการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร สารสนเทศ องค์ความรู้ทั้งที่เกิดขึ้นในประเทศและในระดับนานาชาติเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นยิ่งสำหรับประชาชนทุกระดับ ศาสตร์ทางด้านสารสนเทศศึกษา หรือบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของสังคมเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นสาขาวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับการจัดการสารสนเทศและองค์ความรู้ต่าง ๆ ทั้งในด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการจัดเก็บ การจัดระบบ การค้นคืน การให้บริการ การเผยแพร่สารสนเทศและองค์ความรู้  ตลอดจนการเสริมสร้างสมรรถนะให้แก่ผู้ใช้บริการในการเข้าถึงสารสนเทศ การประเมินสารสนเทศที่ได้ และการนำสารสนเทศไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีจริยธรรม 

การพัฒนาของโลกที่เข้าใกล้ยุคศตวรรษที่ 21 ที่เป็นยุคแห่งการดำเนินชีวิตในแบบดิจิทัลซึ่งเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทำให้วิถีการดำรงชีวิตเปลี่ยนแปลงไป  เกิดการแข่งขันทางปัญญา โดยการใช้สารสนเทศและความรู้ใหม่ ๆ ด้วยวิธีการที่ทันสมัยมากขึ้น บุคคลที่มีความเชี่ยวชาญในการแสวงหาความรู้ การปรับประยุกต์เครื่องมือในการแสวงหาสารสนเทศและความรู้ในรูปแบบต่าง ๆ ย่อมได้เปรียบในการดำเนินชีวิต  โดยมีเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพในการแสวงหาสารสนเทศและความรู้  ดังนั้นทักษะทางด้านสารสนเทศ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21  การที่บุคคลใดมีสมรรถนะและความสามารถพื้นฐานด้านสารสนเทศ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นสำหรับการศึกษา  การเข้าถึงความรู้  การรู้เท่าทัน การเลือกรับ เลือกปฏิเสธ  จนกระทั่งการประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสร้างสรรค์อย่างมีคุณธรรมและจริยธรรม  จะทำให้บุคคลนั้นสามารถค้นหาความรู้เพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์  ด้วยเหตุดังกล่าวจึงมีความจำเป็นที่ต้องจัดให้มีหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาความรู้และทักษะความสามารถในด้านนี้อย่างจริงจัง เพื่อให้คนในสังคมก้าวไปเป็นบุคคลในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างสมบูรณ์ จากการที่พัฒนาการทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านพฤติกรรมของผู้ใช้บริการในด้านต่าง ๆ ดังนั้นสถาบันบริการสารสนเทศหรือห้องสมุดในยุคสังคมฐานความรู้จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนบทบาทเพื่อจัดการและให้บริการสารสนเทศได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

วิชาชีพนักสารสนเทศหรือบรรณารักษ์จึงเป็นวิชาชีพหนึ่งที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามกระแสความก้าวหน้าของยุคดิจิทัล โดยมีเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญ  เป็นผลให้วิชาชีพต้องปรับกระบวนทัศน์และปรับเปลี่ยนบทบาทเป็นอย่างมากตามกระแสโลกาภิวัตน์ ทั้งนี้บุคลากรในวิชาชีพนี้มีความสำคัญยิ่งในการพัฒนาวิชาชีพให้ก้าวหน้าตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในสังคม ทำให้จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนบทบาทและพัฒนาสมรรถนะซึ่งประกอบด้วยความรู้ ทักษะและทัศนคติให้ทันกับพัฒนาการดังกล่าว  โดยเฉพาะบทบาทและสมรรถนะทางด้านการจัดการสารสนเทศ ทั้งในฐานะผู้ดำเนินการด้านเทคนิคและด้านบริการสารสนเทศ ตลอดจนบทบาทในการส่งเสริมผู้ใช้บริการให้รู้เท่าทันสารสนเทศและมีทักษะการรู้สารสนเทศ (Information literacy) หรือทักษะการใช้สารสนเทศเพื่อสนับสนุนการศึกษาค้นคว้าและวิจัย โดยมุ่งปลูกฝังนิสัยรักการอ่านและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตให้แก่ประชาชนเพื่อการเกิดสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ (Wisdom and learning society) ตลอดจนสังคมสร้างสรรค์ (Creative society) อย่างยั่งยืน

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

1. หลักสูตรต้องการผลิตบัณฑิตด้านสารสนเทศศึกษา ที่มีความรู้และความสามารถด้านการจัดการสารสนเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการกำลังคนด้านการจัดการสารสนเทศ และการให้บริการสารสนเทศ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยร้อยละ 80 ของบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรนี้จะสามารถประกอบอาชีพบรรณารักษ์ นักสารสนเทศ นักเอกสารสนเทศ การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจัดการสารสนเทศในองค์กร ปฏิบัติงานเกี่ยวกับงานเอกสาร งานด้านการวิจัย งานสืบค้นข้อมูลจากสื่อ ต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสารสนเทศ/ หรือประกอบกิจการสารสนเทศเชิงพาณิชย์

2. เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนตามหลักสูตรแล้วบัณฑิต จะมีสมรรถนะ ดังนี้
2.1 มีความพร้อมที่จะปฏิบัติงานด้านสารสนเทศและมีศักยภาพในการพัฒนาตนเองให้เข้ากับลักษณะงานทั้งด้านวิชาการและวิชาชีพ โดยปฏิบัติงานอย่างมืออาชีพ มีคุณธรรม จริยธรรมในการประกอบวิชาชีพ มีจิตสำนึกรับผิดชอบและมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสังคมให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้
2.2 มีความรู้ความสามารถในการจัดการสารสนเทศอย่างเป็นระบบ ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในการปฏิบัติงานอย่างเหมาะสมและสร้างสรรค์
2.3 มีจิตใจมุ่งเน้นการให้บริการสารสนเทศที่เป็นเลิศ โดยคำนึงถึงผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ
2.4 มีมนุษยสัมพันธ์ บุคลิกภาพ สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี ใช้ชีวิตบนพื้นฐานของความพอเพียง มีวินัยและค่านิยมที่ดี มีจิตสาธารณะและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม
2.5 มีทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสร้างสรรค์งาน และสามารถใช้ภาษาในการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ