ขั้นตอนการทอผ้า "ผ้าทอมือคุณยายหง่วน บ้านมาบหม้อ ชลบุรี"

เครื่องมือที่ใช้ในการทอผ้า


๑. กี่ เป็นโครงไม้รูปสี่เหลี่ยมสำหรับนำเอาอุปกรณ์ในการทอผ้า เช่น ฟืม ตะกอ ไม้โตงเตง ไม้หน้าหูก มาประกอบกันเข้าเพื่อทอผ้า

กี่

๒. ฟืม ทำด้วยไม้ซกผสมไม้ไผ่ ทำหน้าที่กระทบเส้นด้ายให้แน่น ลักษณะยาวเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีซี่ไม้เล็กๆ หลายซี่ เรียกว่า “ฟันฟืม” ซึ่งมีความละเอียดมากด้ายเส้นเล็กๆ เท่านั้นจึงจะสามารถสอดผ่านได้ ขนาดยาวตามความกว้างของผ้าที่ทอ

ฟืม

๓. ตะกอ ทำด้วยเส้นด้ายร้อยกับกรอบไม้ ทำหน้าที่ยกด้ายขึ้นหรือลงสลับกัน เพื่อสะดวกในการสอดกระสวย มี ๓ ชนิด คือ
      ๓.๑ ตะกอชนิดติดกับฟันฟืม
      ๓.๒ ตะกอชนิดแยกกับฟันฟืม
      ๓.๓ ตะกอชนิดผูกด้วยเชือกซีกเดียว

ตะกอ

๔. กระนัด คือไม้แบน ๒ อันนอกตะกอสำหรับขัดเส้นด้าย เพื่อกันยุ่งและช่วยเรียงเส้นด้าย

กระนัด

๕. กระสวย คือ เครื่องบรรจุด้ายสำหรับทอผ้า ทำหน้าที่นำเส้นด้ายไปขัดกับด้ายยืน มีหลายชนิด ได้แก่ 
        ๕.๑ กระสวยทำด้วยเขาสัตว์ลักษณะแบนมีส่วนแหลมเล็ก เป็นที่คล้องหรือเก็บด้าย
        ๕.๒ กระสวยทำด้วยไม้ไผ่ลักษณะยาวมีที่คล้องด้ายที่หัวและท้ายที่ทำด้วยไม้ไผ่ เพราะไม้ไผ่ประกอบด้วยเซลบางๆ และเหนียวพอที่จะทำกระสวยได้
        ๕.๓ กระสวยที่ทำด้วยไม้จริงๆ เป็นกระสวยไม้หน้ามีล้อเจาะรูตรงกลางสำหรับบรรจุหลอดด้าย ที่มีล้อนั้นอยู่ที่ส่วนหัวและท้ายเพื่อให้กระสวยลื่นและคล่อง

กระสวย

๖. หลอดด้ายพุ่ง

หลอดด้ายพุ่ง

๗. ไม้เหยียบตะกอ ทำจากไม้ไผ่มีหน้าที่ทำให้เส้นด้ายสลับกัน
๘. ผัง คือ ไม้สำหรับถ่างผ้าที่ทอให้ตึงปลายทั้งสองมีเข็มสำหรับที่ริมผ้า
๙. กะสม คือ ไม้สี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ ๓ นิ้ว ยาวประมาณ ๑ ช่วงแขน ตัวกะสมต้องการไม้ที่แข็งเพื่อไม่ให้เปลี่ยนรูปทรง นิยมใช้ไม้ประดู่

๑๐. รอก คือ เครื่องใช้รูปคล้ายล้อมีแกนหมุนได้รอบตัว ที่ขอบล้อเป็นร่องสำหรับให้เส้นเชือกหรือเส้นลวดเดินได้สะดวก

๑๑. กระดานม้วนหูก ใช้สำหรับม้วนเส้นด้ายยืนอยู่ด้านหลังของกี่
ยาวประมาณ 1 ฟุต

๑๒. หัวหูก ทำหน้าที่ขัดด้ายให้เป็นส่วนๆ  (๑ กระจุก = ๒๐-๒๔ เส้นยืน) โดยให้ยาวเท่ากับความกว้างของผ้า

หัวหูก

๑๓. โตงเตง คือ เครื่องหูกชนิดหนึ่ง มี ๒ อัน ผูกแขวงลงมาสำหรับสวมกระดานที่ม้วนด้ายยืน ๒ ข้าง  ด้านบนเจาะรูสำหรับผูกเชือกกับรอก ด้านล่างทำเป็นรูปตะขอไว้วางขวางที่ใช้สำหรับดึงเส้นด้ายให้ตึง

โตงเตง

๑๔. ไม้หน้าหูก ใช้สำหรับขันหูกให้ตึงเวลาทอ
๑๕. ตับตะขอ ใช้สำหรับร้อยเส้นด้าย เพื่อดึงเส้นด้ายที่ทอขึ้นลง
๑๖. เฝือ เป็นที่ขึงเส้นด้ายให้เท่า

๑๗. ระวิง คือ เครื่องปั่นด้ายใช้สำหรับเอาเข็ดด้ายหรือไหมสวม เมือเวลาสาวเส้นด้ายจะได้ออกเป็นเส้นๆ ไม่ขาด ไม่ยุ่ง

๑๘. ไน คือ เครื่องสำหรับกรอด้ายหรือไหมเข้าหลอด

๑๙. ด้าย ทำจากฝ้าย

ขั้นตอนที่ ๑ จัดซื้อและเตรียมเส้นด้าย

IMG20190919111746
ด้าย (ฝ้าย)

ขั้นตอนที่ ๒ นำขดด้าย (ฝ้าย) จุ่มน้ำให้เปียกแล้วนำมาขยำกับข้าวเย็น

ขยำข้าว
การขยำด้ายกับข้าวสุก

เมื่อแห้งแล้วนำมาแช่น้ำให้นิ่มบิดให้แห้งแล้วเอาขึ้นราวแผ่ออกไป จากนั้นใช้กาบมะพร้าว เรียกว่า จันดวง (มะพร้าว 1 ลูก แบ่งเปลือกเป็น ๓ ส่วน ๑ ส่วน เรียกว่า ๑ จันดวง จากนั้นนำมาแบ่งครึ่ง) ใช้ส่วนรอยตัดนั้นแปรงเส้นด้ายให้หมดขน จนหมาด เส้นด้ายก็จะไม่ติดกัน

แปรงเส้นด้าย
การหวีด้าย

ขั้นตอนที่ ๓ นำเส้นดายที่แปรงแล้ว
มากรอใส่หลอดซึ่งยาวประมาณ ๘ นิ้ว 

การกรอด้าย

แล้วนำมาใส่รางหลอด ซึ่งใส่หลอดได้ประมาณ ๒๕ หลอด จากนั้นเอารางหลอดไปแขวนไว้เหนือศรีษะ 

รางหลอด

แล้วดึงเส้นด้ายจากทุกหลอดให้มีความยาวเท่าๆ กัน แล้วรวบมักปลายให้แน่น จากนั้นคล้องเข้ากับลูกเฝือ เรียกว่า “ค้น” แต่เขาจะใส่ลวดลาย เพิมขบวนการ “คิด” ด้วย จนครบทุกลูกโดยวิธีคล้องสลับกัน แล้วสอดเส้นด้ายเข้าฟันฟืม

การค้นลาย

หลังจากที่สอดเส้นด้ายใส่ฟันฟืมเสร็จแล้วก็ขึงยาวไปตามเส้นทางตรง (ใช้ที่ว่าง) แล้วม้วนด้ายเข้ากับกระดานหูก เพื่อเข้าไปหาฟันฟืม 

การพับกระดานหูก
การสืบผ้า

ขั้นตอนที่ ๔ การทอผ้า

การทอ

ข้อมูลจาก: ผ้าทอมือคุณยายหง่วน บ้านมาบหม้อ ชลบุรี