Burapha University Archives

จดหมายเหตุมหาวิทยาลัยบูรพา

BURAPHA UNIVERSITY ARCHIVES

สัมภาษณ์ศาสตราจารย์ ดร.ธำรง บัวศรี

อดีตท่านเป็นอธิการบดีวิทยาลัยวิชาการศึกษา บางแสน คนแรก เป็นผู้ริเริ่มขยายการศึกษาระดับปริญญาตรี
ออกสู่ส่วนภูมิภาคและเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางแสน

ศ.ดร.ธำรง บัวศรี: 

เมื่อราวๆ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ ก็มาอยู่ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งตอนนั้นมีโรงเรียนฝึกหัดครู ก็ได้อยู่ที่นั่น แล้วพอเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๙๘ ทางกระทรวงฯ ก็เรียกตัวไปบอกว่า อยากจะตั้งวิทยาลัยวิชาการศึกษา ที่บางแสน ที่ก่อตั้งก็เนื่องจากว่า
ตอนนั้นเค้ายกฐานะของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ซึ่งเดิมเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง มี ดร.สาโรจน์ อยู่ที่นั่น ดร.สาโรจน์เลย เสนอว่า ถ้าอยากให้โรงเรียนฝึกหัดครูก้าวหน้า จะต้องสร้างครูในระดับปริญญา มิฉะนั้นการฝึกหัดครูก็จะไม่มีคุณภาพ หรือตามไม่ทันเค้า ทางกระทรวงศึกษาฯ จึงเริ่มยกระดับโรงเรียนฝึกหัดครูให้เป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษา ที่ประสานมิตร ซึ่งก็ราวๆ
ต้นปี ๒๔๙๘ และรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้นคือ พลเอกมังกร พรหมโยธี ก็มีความเห็นร่วมกับจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งได้ออกเป็นมติคณะรัฐมนตรีว่า น่าจะต้องกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค เค้าก็มาคิดกันว่าน่าจะขยายการศึกษา โดยเฉพาะระดับสูงออกไปสู่ภูมิภาคด้วย ดังนั้น เมื่อตั้งวิทยาลัยวิชาการศึกษาขึ้นที่ประสานมิตรแล้ว ก็เลยคิดว่าน่าจะต้องขยายออกไปสู่ภูมิภาคด้วย
ก็เลยเลือกที่บางแสน เนื่องจากไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เท่าไหร่นักและอีกอย่างก็จะเป็นจุดที่ดีสำหรับนักเรียนในภาคตะวันออก ซึ่งสามารถมาเรียนต่อที่บางแสนได้โดยไม่ต้องเข้ากรุงเทพฯ นอกจากนั้นบางแสนยังเริ่มเป็นที่ตากอากาศที่คนไปเที่ยว แต่ในเวลานั้น
เริ่มแรกที่ไปตั้งถนนหนทางก็ยังไม่ดี ต้องใช้เวลาเดินทางนาน สะพานบางปะกงก็ยังไม่มี ต้องข้ามแพขนานยนต์ ค่อนข้างลำบาก
แต่เค้าคงเห็นผมเพิ่มกลับมาจากต่างประเทศใหม่ๆ และตัวคนเดียว เค้าเลยเลือกให้ผมไป ส่วนคนอื่นก็มีตำแหน่งอยู่แล้ว ผมมีเวลาในการเตรียมตัวเดินทางน้อยมาก ในขณะนั้นทางมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็สอบคัดเลือกนิสิต นักศึกษา เรียบร้อยแล้ว ผมก็มีเวลาเตรียมการประมาณ 2 เดือน ดังนั้นประมาณต้นเดือนพฤษภาคม  เราก็ประกาศรับสมัครนิสิตรุ่นใหม่ ผมก็ไปดูบรรยากาศ ตอนนั้นก็มีวิทยาลัยวิชาการศึกษา บางแสน เปิดอยู่แล้ว ประมาณ ๒-๓ ปี จะคล้ายๆ โรงเรียนมัธยมเป็นของกรมสามัญศึกษา แต่สภาพก็ยังเป็นป่า, เขา, มะพร้าว ที่นี้ก็สอบคัดเลือกกันเดือนพฤษภาคม มีคนสมัครประมาณ ๔๑ คน เราก็รับหมด เพราะเป็นรุ่นแรก หลังจากนั้นก็มีเวลาอีก 
๑ เดือน ก่อนเปิดเทอม นิสิตก็กลับไปเตรียมตัว พอวันที่ ๓๐ มิถุนายน เราก็นัดให้มาขึ้นรถไปบางแสน เราก็ไปขอใช้สถานที่กับวิทยาลัยบางแสน ทั้งหอนอน ทั้งชั้นเรียน นอกจากนั้นก็เตรียมการเรื่องงบประมาณสำหรับนิสิต ส่วนเรื่องอื่น วิทยาลัยบางแสนช่วยดูแล เราเพียงแต่จัดหาเงินส่งให้เค้าไปว่านิสิตมีเท่าไหร่ก็คิดตามหัว ก็เลยสะดวกหลายอย่าง แต่ขณะเดียวกันในปี ๒๔๙๘ ก็เป็นเวลา
ที่ต้องเตรียมสถานที่ใหม่เพื่อให้นิสิตของเราได้ย้ายไปเรียน ในปีต่อไปเราจะได้มีที่เป็นสัดเป็นส่วน และตัวผมเองตอนนั้นก็ยังอยู่
บังกะโลเล็กๆ ก็สบายดีเหมือนมาตากอากาศ เราก็นึกว่าอยู่ไปแล้วก็ได้สอนหนังสือ ในขณะเดียวกันก็ต้องวิ่งเข้ากรุงเทพฯ ทุกสัปดาห์ เพราะต้องมาติดต่อเรื่องก่อสร้าง ต้องไปกรมอาชีวะให้เค้าออกแบบ แต่ตอนนั้นเรามีอาจารย์ท่านหนึ่ง (ตอนนี้เสียชีวิตแล้ว)
อยู่ประสานมิตร เป็นสถาปนิก ก็เลยให้ท่านช่วยออกแบบ จากนั้นก็หาผู้รับเหมา ดังนั้นภายใน ๑ ปี เราก็สามารถสร้างตึกอำนวยการ
ได้ ๑ หลัง สร้างหอพัก ๒ หลัง หอหญิง ๑ หลัง หอชาย ๑ หลัง พอปี ๒๔๙๙ เราก็ย้ายมา แล้วรับนิสิตเพิ่มเป็นเกือบ ๒๐๐ คน
แล้วก็รับอาจารย์เพิ่ม อาจารย์รุ่นแรกมี ๗ คน มีผม
, อ.ลัดดา ประเสริฐกุล, อ.ประมาณ ฮะกีมี, อ.บุญเลิศ ศรีหงษ์, อ.สายัณ คำเขียน, อ.ศักดิ์ศรี, อ.ดัด ต่างคนต่างก็อยู่บังกะโลริมทะเล พอปีที่ ๒ เราก็ได้อาจารย์, นิสิต เพิ่มอีกมากมาย เพราะพอใกล้ปลายปีที่ ๒ ผมมีหนังสือไปทั่วประเทศว่าเรามีวิทยาลัยวิชาการศึกษา บางแสน ซึ่งมีหลักสูตรมากมาย เรายินดีต้อนรับที่จะให้นักเรียนจากทั่วประเทศมาเรียนที่นี่ ก็มากันมากมายเป็น ๑๐๐ กว่าคน เพราะเรารับตามจำนวนห้องหอพักที่ว่าง ในระยะนั้นนิสิตทุกคนต้องอยู่ประจำแล้วก็ฟรี
ทั้งค่าอาหาร
, ที่พัก ต่อมาอีก ๒-๓ ปี ก็เพิ่มขึ้นอีกเยอะ เป็นประมาณ ๔๐๐ คน ผมเขียนไว้ในบันทึกบางแห่งก็พูดถึงว่าในความคิดของผม ที่นี่จะเป็นแหล่งผลิตบัณฑิตชั้นเยี่ยมของเมืองไทย คนที่ไม่เข้าใจคิดว่าคงจะเป็นบัณฑิตชนิดเรียนเก่งที่สุด แต่ไม่ใช่นิสิตที่ผมต้องการคือ แกร่ง อดทน สามัคคี ซื่อสัตย์ เราต้องการตรงนี้มากกว่าอย่างอื่น เพราะเราพยายามปลูกฝังมาตลอด ผมรู้สึกว่าได้ผล เพราะตอนที่ผมอยู่นิสิต ๔-๕ รุ่นแรก เค้ารักกันมาก จนถึงปัจจุบันเค้าก็ยังติดต่อกันเสมอ แล้วเด็กของเราสมัยนั้น ถึงแม้จะไม่ใช่เด็ก
ที่เรียนเก่งมาก แต่เวลาออกมาทำงานแล้วสามารถก้าวขึ้นไปในตำแหน่งสูง ตอนนี้เป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยครูตั้งหลายแห่ง หรืออย่างนิสิตรุ่น ๖ ก็มี ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี อธิบดีกรมการศาสนา ฯลฯ เท่าที่ผมได้พยายามติดตามข่าว ส่วนใหญ่ก็มีชีวิตมีหลักฐานที่มั่นคงเราก็พอใจ นั่นก็เป็นความคิดของผมในเรื่องการผลิตบัณฑิตชั้นเยี่ยม แต่นิสิตที่เด่นในเรื่องการเรียนก็มีเหมือนกัน แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่จำเป็นในชีวิตของคน นั่นไม่ใช่เรื่องเรียนเก่งแต่เพียงอย่างเดียว ในองค์ประกอบของคนๆ หนึ่งควรจะมีจิตใจโอบอ้อมอารี มีเมตตา ฯลฯ เราต้องการตรงนั้นมากกว่า มาถึงยุคนี้ผมก็ไม่ค่อยสบายใจ จากที่มองเห็นสภาพสังคมทั่วไป เราจะเห็นว่าการศึกษาเริ่มกลายเป็นสินค้า แต่ของเราคงยังไม่เป็น แต่อย่างโรงเรียนสาธิตฯ ในกรุงเทพมหานคร ถ้าคุณจะเข้าคุณต้องเอาเงินเข้าไป ใครสอบได้ก็แล้วไป แต่ถ้าสอบไม่ได้ก็ต้องเอาเงินมาอุปการะโรงเรียน เค้าจะเรียกว่านักเรียนอุปการะ ผมว่าไม่ถูกต้องเพราะเป็นการสร้างนิสัยการติดสินบนตั้งแต่ยังเด็ก เมื่อติดสินบนเข้าเรียนได้ต่อไปก็ไปติดสินบนอะไรก็ได้ แบบนี้สังคมเสียหายมาก แล้วตอนนี้ก็เป็นเกือบทุกระดับจนถึงอนุบาล ก็ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร มันกลายเป็นระบบทุนนิยม ถ้าบางแสนยังรักษาความไว้ได้ ก็จะเป็นประโยชน์ เราต้องนึกว่าอย่างน้อยในโรงเรียนหนึ่ง ก็ต้องมีนักเรียนหลายประเภทปนกันอยู่ รวยบ้าง จนบ้าง เก่งบ้าง ไม่เก่งบ้าง แต่ประเภทใช้เงินเข้าไปเรียน
ไม่ถูกต้องแล้ว ถ้าเราทำผมก็ขอร้องให้เลิก เพราะเราควรจะสร้างความรู้สึกของเด็กให้เป็นคนมีคุณธรรม ถ้าเราไม่มีตรงนี้ก็แย่ ผมก็
ไม่ทราบว่าอย่างโรงเรียนหลายๆ แห่ง ที่ทำแบบนี้เด็กที่เข้าไปก็จะมีสองพวก เค้าจะมีความรู้สึกอะไรกันหรือเปล่า เพราะทุกวันนี้ระบบการศึกษาในบ้านเราก็สร้างความเครียดให้เด็กโดยไม่รู้ตัวอยู่แล้ว ที่มีการสอบแข่งขันการเอ็นทรานช์ระบบที่จะใช้ก็ไม่ได้หมายความว่าดีขึ้นเลย นอกจากนั้นยังมี
PRE-ENTRANCE ก่อนสอบจริงอีก ไม่รู้ว่าทำทำไม มันเหมือนกับการหาเงินและขณะเดียวกันก็ยังเกิดมีการติวเข้มอีก ยิ่งสร้างความเครียดให้เด็กเพิ่มมากขึ้นอีก ผมว่าวิธีการคิดของคนระดับสูงยังไม่ถูกต้อง แบบนี้ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น ทำไมที่อเมริกา ประเทศอื่นๆ เค้าไม่เห็นมีแบบนี้เลย จริงเราสามารถจัดระบบการศึกษาแบบอื่นๆ ได้ แต่เราก็ไม่ทำ เช่น ถ้าเรารับทุกเทอมแล้วออกทุกเทอม เราก็สามารถจะรับนิสิตเพิ่มได้อีกเท่าตัว แล้วเราก็จัดสอบของเราเองไม่ต้องสอบส่วนกลาง เพราะผมถือว่าเสรีภาพทางวิชาการสำคัญ ถ้าคุณไม่สามารถเลือกนักเรียนของคุณเองได้ คุณก็ไม่มีเสรีภาพทางวิชาการ มหาวิทยาลัยทั้งหลายยังไม่เปิดใจให้กว้าง แม้แต่การ TRANSFER CREDIT ก็ยังไม่ยอมให้มีในทางปฏิบัติ เช่น นักเรียนที่เรียนในจุฬาฯ ตอนซัมเมอร์ไปเรียนที่เชียงใหม่ พอปิดเทอมจะเอาหน่วยกิตนั้นมาโอน จุฬาฯ ก็ไม่ยอม ทั้งๆ ที่ตอนสอบคัดเลือกนักศึกษาก็ใช้มาตรฐานเดียวกัน (ENTRANCE)
พอแบบนี้ไม่ได้ ถือว่าจุฬาฯ ดีกว่าแบบนี้ก็ไม่ถูก ผมว่าถ้าเราคิดอะไรแบบใจกว้าง เราก็จะไม่สร้างปัญหา ไม่สร้างความเครียดให้กับอาจารย์ แล้วก็นิสิตทั้งหมด

สำนักหอสมุด: สมัยที่เริ่มเป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษา บาง อาจารย์มีนโยบายอย่างไร 

ศ.ดร.ธำรง บัวศรี:

๑. ความคิดที่จะผลิตบัณฑิตของผมก็คือ บัณฑิตชั้นเยี่ยม ที่ผมบอกไปแล้ว
๒. หลักสูตรที่ผมนำมาใช้ ผมคิดขึ้นมาใหม่ ไม่ได้ใช้ของประสานมิตร ตัวอย่างเช่น ปฐมนิเทศการศึกษาไทย เพื่อให้เด็กปีหนึ่งเรียน จะได้รู้ว่าการศึกษาไทยเป็นอย่างไร โดยการไปดูงานตามโรงเรียนต่างๆ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูล เพราะเราจะเรียนเรื่องการศึกษา เราก็ต้องว่าจะเรียนอะไร อย่างไร แล้วก็ยังมีวิชาอื่นๆ อีกผมก็พยายามจัดตามระบบสากล แต่ก็ใกล้เคียงกับของประสานมิตร และอีกอย่างหนึ่งที่คิดคือ อยากได้ครูที่เป็นทั้งครู ทั้งนักการศึกษา คือ เค้าต้องมีทั้งปฏิสัมพันธ์กับนักเรียน และต้องมีความเป็นนักการศึกษา อยู่ในสภาพสังคมมองเห็นสภาพสังคม ติดต่อคนมากมาย เราก็พยายามทำให้เค้ามองเห็นภาพตรงนี้ด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อทางจังหวัดมีกิจกรรมอะไรขึ้น เรามักจะต้องเอานักศึกษา, อาจารย์ ไปร่วมงานด้วย เพื่อจะให้มีส่วนร่วมกับสังคม ในระยะนั้นเราก็มีแต่การศึกษาอย่างเดียว
ก็ไม่ยากนักที่จะปกครอง เพราะทุกคนเป็นกลุ่มเป็นก้อน แต่ระยะหลังผมว่ายากขึ้นมาก เพราะมีนิสิตมากขึ้นก็ต้องมีอะไรเพิ่มขึ้น เช่น สโมสรนิสิต (STUDENT UNION) ซึ่งฝรั่งถือว่าจำเป็นมาก เพราะนิสิตมีหลายคณะ ก็ต้องมีศูนย์รวม แต่เท่าที่เห็น ผมก็รู้สึกว่าเด็กของเราสนุกสนานกับกิจกรรม แต่ควรทำให้เป็นระบบมากขึ้น ทำให้คนมีส่วนร่วมมากขึ้น สิ่งเหล่านี้มหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ต้องคิดให้มาก แม้แต่การออกแบบอาคาร สถานที่ มหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เค้ายังคิดว่าจะออกแบบอย่างไร เพื่อให้นิสิตออกจากตึกหนึ่งแล้วมารวมอยู่ในอีกตึกหนึ่ง บางที่ตึกกระจัดกระจายก็ยากที่จะรวม สิ่งเหล่านี้มหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ต้องคิดมากขึ้น ยิ่งเดี๋ยวนี้เรามีคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต สื่อที่ทันสมัย ก็ยิ่งต้องพยายามใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการเรียนการสอน (INSTRUCTION) ระหว่างอาจารย์กับนิสิตก็เป็นเรื่องสำคัญ เวลานี้เกิดมีความเข้าใจผิดคิดว่านิสิตควรจะต้องเรียนด้วยตัวเอง
ครูควรเป็นเพียงผู้ให้คำแนะนำภายนอก จริงๆ แล้วต้องคิดว่าการเรียนรู้เกิดจากอะไร เกิดขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน ๒ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นคนกับคน หรือคนกับหนังสือ แต่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งมีชีวิต มันจะส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ได้ดีกว่าสิ่งมีชีวิตกับสิ่งไม่มีชีวิต จะนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์แล้วจะหวังให้เก่งก็ไม่ถูก เพราะประสบการณ์, วิสัยทัศน์ ของอาจารย์ย่อมมีมากกว่าเด็กๆ ดังนั้นการเรียนรู้จะขาดครูไม่ได้ สื่อเป็นเพียงอุปกรณ์ เพราะฉะนั้นอาจารย์ต้องทำตัวให้ใกล้ชิดกับเด็กให้มากๆ โดยเฉพาะอาจารย์ที่ปรึกษา ไม่ใช่พอหมดชั่วโมงสอนก็หายไป ซึ่งอาจารย์ก็ต้องยอมเหนื่อย

 

สำนักหอสมุด: เรียนถามถึงลักษณะภูมิศาสตร์ของบางแสนว่าทำไมถึงถูกเลือกให้เป็นวิทยาวิชาการศึกษาบางแสน

ศ.ดร.ธำรง บัวศรี:

ตอนผมไปทีแรก ผมก็คิดแล้วว่าที่นี่ต่อไปจะต้องเป็นมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ของภาคตะวันออก เพราะมหาวิทยาลัยที่มินิโซต้า สหรัฐอเมริกา ก็ติดทะเลแบบนี้ เราก็มั่นใจว่าที่นี่ต้องเป็นได้ แล้วอีกอย่างชลบุรีก็มีทรัพยากรมหาศาล รวมทั้ง ระยอง จันทบุรี ผมยังเสียดายที่ผู้บริหารคนต่อจากผมไม่พยายามขยายพื้นที่ มีแค่ ๖๐๐-๗๐๐ ไร่ จริงๆ เราน่าจะได้ประมาณ ๒๐๐๐ ไร่ แม้แต่ตอนหลัง อ.เชาวน์ จะซื้อเพิ่มก็ไม่มีแล้ว สาเหตุที่ต้องมีเยอะๆ เพราะถ้าในอนาคตเราเป็นมหาวิทยาลัยอิสระ ที่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาล เราก็จำเป็นต้องหารายได้ ถ้ามีพื้นที่น้อยก็ไม่มีที่จะสร้างทรัพย์สินให้เพิ่มพูนขึ้นมาได้ ซึ่งในอเมริกาเค้าทำกัน หรือแม้แต่จุฬาฯ เองก็มี อย่างมหาวิทยาลัยเราถ้าในเมืองชลบุรีหาไม่ได้แล้ว ก็ขยายไปยังจังหวัดอื่นก็ได้ เพราะเราจะได้มีรายได้ พูดถึงบางแสนเราก็เป็นทำเลที่ดีในการตั้งหมาวิทยาลัย เพราะเป็นจุดสกัดเด็กจากภาคตะวันออกไม่ให้เข้ากรุงเทพฯ แล้วก็ยังสามารถดึงจากอีสานมาได้อีก ดังนั้นเราต้องทำมหาวิทยาลัยให้แข็งแกร่ง ผมคิดว่าส่วนที่จะสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการนั้น เราก็จำเป็นต้องเน้นเหมือนกัน โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่จะช่วยในการเรียนการสอน เพื่อให้นิสิตได้ศึกษา แล้วอาจารย์ก็เหมือนกัน ต้องหาอาจารย์สักกลุ่มที่มีความสนใจในการค้นคว้าวิจัย
แล้วก็ผลักดันให้ทำสำเร็จ เพื่อสร้างชื่อเสียงให้มหาวิทยาลัย ต้องทำบุคลากรให้มีคุณภาพ ดูอย่างธรรมศาสตร์สมัยก่อนก็ไม่เคยมีคนอยากเรียน แต่ธรรมศาสตร์ได้เปรียบตรงที่สอนวิชาที่จบออกไปแล้วต้องไปเป็นหัวหน้าคน อย่างรัฐศาสตร์ แล้วในปัจจุบันธรรมศาสตร์ก็กลายเป็นมหาวิทยาลัยที่แข็งแกร่ง มหาวิทยาลัยเราก็ทำได้ก็ต้องดูว่าจุดไหนที่เหมาะสม แล้วก็มุ่งพัฒนาจุดนั้น ให้คณะอื่นเห็นเป็นตัวอย่างอยากทำบ้าง แต่ถ้าคณะนั้นได้รับการสนับสนุนนิด คณะนั้นหน่อย ก็ไม่รู้จะพัฒนาอย่างไรให้เต็มที่ เรื่องนี้ก็ต้องคุยกันในเรื่องนโยบาย มหาวิทยาลัยอยู่ในแหล่งที่ดี แต่ต้องรู้จักพัฒนา อย่าไปคอยงบประมาณอย่างเดียวคงไม่ได้

สัมภาษณ์โดย สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยบูรพา
วันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ เวลา ๐๙.๓๐ น.
ณ บ้านพักอาจารย์ ซอยเอกมัย กรุงเทพมหานคร