กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ Friday Talk ครั้งที่ 3/2565

กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ Friday Talk

ครั้งที่ 3/2565
R to L ถอดบทเรียน...เกษียณอายุ'65

นางสมพร พวงย้อย
ความผูกพันที่มีต่อสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยบูรพา

เริ่มทำงาน
      ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2527 รวม 38 ปี ทำงานตั้งแต่ตึกเก่า พอย้ายมาตึกใหม่ก็ทำหน้าที่โรเนียวเอกสาร และเดินเอกสารจนถึงปัจจุบัน

ชอบงานที่ทำมั้ย :

  • รักงานมาก มีความสุข ทำด้วยใจ

เพื่อนร่วมงาน :

  • พี่ตุ้มรักน้องๆ ทุกคน ตั้งแต่ชั้น 1- ชั้น 7 พี่ตุ้มรักและเป็นห่วงน้องๆ ทุกคน ดีใจที่มีน้อง ๆ ได้เข้ามาทำงานในห้องสมุดด้วยกัน มาช่วยกันพัฒนาห้องสมุด ตั้งแต่แรกจนเจริญเติบโตจนถึงทุกวันนี้ มีความรู้สึกว่าเป็นครอบครัวเดียวกัน มีความรัก ความผูกพันทั้งกับงานและกับคนกับห้องสมุด

ถ้าไม่ได้ทำงานกับห้องสมุด 1 วัน รู้สึกอย่างไร

  • เป็นห่วงห้องสมุด กลัวน้องๆ จะลำบาก

พูดเกี่ยวกับห้องสมุด

  • ป้าตุ้มก็รักห้องสมุดมาก ไม่เคยคิดจะลาไปไหน ไม่มีข้อนี้อยู่ในสมองเลย ซึ่งในหน่วยงานอื่นอาจจะมีแบบเหลืออีก 1 เดือนเขาก็จะลาเลย ไม่ทำแล้ว แต่ในส่วนของพี่ตุ้มจะทำงานจนถึงวันสุดท้าย อยากให้น้องๆ รักห้องสมุดเหมือนกับที่ป้าตุ้มรัก ฝากให้ดูแลห้องสมุดด้วย

พี่ตุ้ม สมพร พวงย้อย ผู้ซึ่งทำหน้าที่เดินเอกสาร ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงแค่งานเล็กๆ ในสายตาของคนอื่น แต่พี่ตุ้มมีความรู้สึกรักและภูมิใจในงานของตนเองมาก และเมื่องานที่ทำด้วยใจรักย่อมทำให้เกิดผลงานที่ดีเสมอ ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าพี่ตุ้มจะได้รับความไว้วางใจให้นำส่งเอกสารที่สำคัญ รวมไปถึงยังเป็นที่รักของคนในห้องสมุดและหน่วยงานอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ พี่ตุ้มยังเป็นผู้ที่ทุ่มเทให้กับงานในห้องสมุด ไม่ว่าจะเป็นงานทำบุญปีใหม่ งานสถาปนาห้องสมุด พี่ตุ้มจะเป็นแม่งานที่สำคัญทำให้ผ่านไปได้ด้วยดี และเหนือสิ่งอื่นใดนั้น เกิดจากความรักและความผูกพันของห้องสมุดที่พี่ตุ้มมีให้เสมือนเป็นครอบครัวของพี่ตุ้ม ทำให้พี่ตุ้มนั้นไม่คิดจะลาพักผ่อนหรือลากิจแม้ว่าจะมีโอกาสแล้วก็ตาม ดังนั้น พี่ตุ้ม สมพร พวงย้อย จึงถือได้ว่าเป็นบุคลากรต้นแบบที่น่าถอดบทเรียนใน หัวข้อ ความผูกพันของบุคลากรที่มีต่อสำนักหอสมุด


นางสาวจรัญญา ศุภวิฑิตพัฒนา
ตำแหน่ง บรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษ ฝ่ายเอกสารและวารสาร

การทำงาน

     เริ่มบรรลุเข้าทำงาน วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 ห้องสมุดสมัยนั้นเป็นอาคาร 2 ชั้น มีบุคลากรจำนวน 20 กว่าคน มี 7 ฝ่าย หน้าที่รับผิดชอบปฏิบัติงานในฝ่ายวิเคราะห์ และเมื่อมหาวิทยาลัยเป็นสถานะเป็นมหาวิทยาลัยบูรพาเมื่อปี 2533 โครงสร้างห้องสมุดเปลี่ยนเป็น สำนักหอสมุด มีการรับบุคลากรเพิ่มขึ้น และเปลี่ยนงานจากฝ่ายวิเคราะห์มาอยู่งานจัดหาระยะเวลา 2-3 ปี และในปี พ.ศ. 2540 มีการปรับย้ายงานทั้งสำนักหอสมุด ตนเองได้ย้ายจากงานจัดหามาอยู่ฝ่ายเอกสารและวารสาร และปฏิบัติงานในฝ่ายนี้จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 25 ปี

หลักการทำงาน
     คนทำงานต้องทำได้มากกว่าหนึ่งงาน มีการวางแผน มีหน้าที่รับผิดชอบที่ชัดเจน มีการสอนงานสำหรับตนเองต้องคิดแล้วว่าพรุ่งนี้จะทำอะไร มีการวางแผนไว้ก่อน เหมือนเวลาเราไปตลาดจะทำอาหาร ก็ต้องมีการวางแผนในการซื้อวัตถุดิบเพื่อทำอาหาร  หน้าที่ความรับผิดชอบของตนเอง เช่นการสร้างรูปแบบการลงทะเบียนวารสาร (Holding) อาศัยอ่านจากคู่มือปฏิบัติงานอย่างเดียวไม่เพียงพอเนื่องจากวารสารแต่ละชื่อมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เช่น เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนวาระการออก มันจุกจิก ฉะนั้นการย้ายงานต้องอาศัยการเรียนรู้งานใหม่อย่างน้อย 6 เดือน


ความผูกพันในงาน
      การทำงานเป็นทีม การเปิดใจคุยกันด้วยเหตุผล อย่ายึดถือตนเองมากเกินไป มีความรักกันมีความเป็นห่วงน้อง ๆ ทุกคนที่อยู่ในฝ่าย


นายชัยยศ ปานเพชร
การวางแผนชีวิตหลังวัยเกษียณ
      กล่าวว่าชีวิตหลังเกษียณได้มีการวางแผนทำเกษตร ทำสวน ก็ได้ทำการปรับพื้นที่ของที่ดินที่มีอยู่ให้ดี เช่น การปรับหน้าดิน การขุดสระ พร้อมทั้งได้นำพันธุ์ไม้ที่กินได้ไปปลูก ก็จะมี ขนุน มะพร้าว ลำใย เงาะ เป็นต้นถ้าใครมีแนวคิดจะทำการเกษตรก็อยากให้มีการวางแผนไว้ 5 ปี ก่อนที่จะเกษียณ เพราะว่าพอเราลงมือทำในช่วงก่อน 5 ปีที่จะเกษียณมันจะพอดี เราจะได้ไม่ต้องเหนื่อยมากและผลผลิตก็ออกดอกออกผลในจังหวะที่เราเกษียณและอีกสิ่งหนึ่งที่อยากฝากถึงน้องๆ ชาวหอสมุดให้มีความรักใคร่สามัคคีกัน มีอะไรให้พูดคุยกัน ตักเตือนกัน อยากให้กลับไปเป็นเหมือนสมัยก่อนที่พอเรามีกิจกรรมที่ต้องได้ทำร่วมกัน มันสนุก มีความสุข มีอะไรช่วยเหลือกันเต็มที่ ทำให้คนที่มองมาที่หอสมุดเราด้วยความชื่นชมว่าหน่วยงานเราดี รักใคร่ สามัคคีกัน ร่วมแรงร่วมใจกัน ดีมากซึ่งต่างจากหน่วยอื่นๆ ก็อยากให้รักษาวัฒนธรรมแบบนี้เอาไว้ ท้ายนี้ก็อยากจะฝากอีกครั้งก็คือหอสมุดคือที่ที่ให้ชีวิตเราและให้ความมั่นคงกับหลายคนดังนั้นอยากให้เราทุกรักหอสมุด มีปัญหาอะไรอยากให้หันหน้ามาพูดคุยกัน รักใคร่สามัคคีกัน เพื่อหอสมุด