วัดอ่างศิลา

ความเป็นมา

พระราชหัตถเลขา เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เสด็จประพาส ตำบล เสม็ด- อ่างศิลา “ค่ายหลวงตำบลอ่างศิลา ณ วันอังคาร แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๒ ปีชวด อัฐศก ศักราช ๑๒๓๘ “( พ.ศ. ๒๔๑๙)

         ”…ในบ้านอ่างศิลามีวัดอยู่ ๒ วัด เรียกชื่อว่า วัดนอก วัดใน วัดในมีพระสงฆ์ ๑๐ รูป วัดนอกมีพระสงฆ์ ๑๑ รูป เป็นวัดเดิมมีมาแต่โบราณไม่ปรากฎว่าผู้ใดสร้าง …และที่เรียกชื่อว่าอ่างศิลานั้น เพราะมีแผ่นดินสูงเป็นลูกเนินมีศิลาก้อนใหญ่ๆ เป็นศิลาดาด และเป็นสระยาวรีอยู่ ๒ แห่ง แห่งหนึ่งลึก ๗ ศอก กว้าง ๗ ศอก ยาว ๑๐ วา แห่งหนึ่งลึก ๖ ศอก กว้าง ๓ วา ยาว ๗ วา เป็นที่ขังน้ำฝน น้ำฝนไม่รั่วซึมไปได้ ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี เห็นว่าประโยชน์กับคนทั้งปวง จึงให้หลวงฤทธิศักดิ์ชลเขตร ปลัดเมืองชลบุรี เป็นนายงานก่อเสริมปากบ่อกันน้ำ มิให้น้ำที่โสโครกไหลกลับลงไปในบ่อได้ ราษฎรชาวบ้านและชาวเรือไปมาได้อาศัยใช้น้ำฝนในอ่างศิลานั้น ลางปีถ้าฝนตกมาก ถ้าใช้น้ำแต่ลำพัง ชาวบ้านก็ได้ใช้น้ำทั้ง ๒ แห่งและบ่ออื่นบ้าง พอตลอดปีไปได้ ลางปีฝนน้อยราษฎรได้อาศัยใช้แต่เพียง ๕ เดือน ๖ เดือน ก็พอหมดน้ำในอ่างศิลา แต่น้ำในบ่อที่แห่งอื่นๆ ที่ราษฎรขุดขังน้ำฝนไว้ใช้นั้นมีอยู่หลายแห่งหลายตำบล ถึงน้ำในอ่างศิลา สองตำบลนี้แห้งไปหมดแล้ว ราษฎรใช้น้ำบ่อแห่งอื่นๆ ได้ จึงได้เรียกว่าบ้านอ่างศิลามาจนถึงทุกวันนี้…”

          วัดอ่างศิลาวัดใน
         บันทึกของนายพูนสูข สันหกรณ์ อายุ ๗๖ ปี ลอกข้อความมาจากจากเอกสารของวัดอ่างศิลา ครั้งที่บวชเป็นพระนวกะ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ “ครั้งพระเจ้าตากสินมหาราช ยกทัพเข้าตีพม่า ที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อมาถึงเมืองชลบุรีได้มาพักแรมที่อ่างศิลา ทรงเห็นว่าเป็นทำเลที่เหมาะแก่การทำไสยศาสตร์พิธีต่างๆ จึงได้สร้างอุโบสถขึ้น เป็นหลังคามุงจาก” (ข้อมูลจาก: หนังสือ วัดอ่างศิลา ผ.ศ.ดร.พรหมศักดิ์ เจิมสวัสดิ์ นักโบราณคดี ชาวตำบลอ่างศิลา เป็นบรรณาธิการ ไม่ระบุปีที่พิมพ์)
ที่หน้าอุโบสถในมีหมู่พระเจดีย์ ๓ องค์ ตั้งเรียงจากทิศเหนือไปหาทิศใต้ รูปโครงลักษณะของสถาปัตยกรรมแตกต่างกันคือ ประกอบด้วยเจดีย์เหลี่ยมฐานสิงห์และฐานปัดองค์ระฆังรูปหกเหลี่ยมและปล้องไฉนเป็นบัวกุ่ม ปลียอดเรียวเล็ก ส่วนอีก ๒ องค์มีลักษณะแตกต่างกันออกไป เช่น องค์กลางมีปล้องไฉนเป็นแผ่นกลมซ้อนจากใหญ่ไปหาเล็ก อันเป็นศิลปกรรมสมัยกรุ่งศรีอยุธยาตอนปลาย พร้อมทั้งมีฐานมารแบบปรากฎอยู่ องค์ขวามือสุดมีฐานปัดและรูปมารแบบ ส่วนองค์ระฆังมีโครงสร้างแปลกออกไปอีก คือมีซุ้มหรือคูหาประดับไว้โดยรอบ สันนิษฐานว่าเดิมคงไว้พระพุทธรูปยืน ส่วนบนเป็นรูปสลักกลีบดอกบัวหรือดอกไม้ เจดีย์ดังกล่าวนี้มีชามเบญจรงค์ตามแบบจีนประดับอยู่ จึงเป็นหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่ระบุชัดเจนว่าได้สร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
         ดังนั้น การสันนิษฐานสมัยการสร้างของเจดีย์หมู่ทั้ง ๓ องค์นี้ จึงน่าจะไม่ใช่การสร้างในสมัยเดียวกันอย่างแน่นอน น่าจะเป็นการสร้างมาตั้งแต่ปลายสมัย
กรุงศรีอยุธยา ตอนต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งนี้ด้วยการเปรียบเทียบกับระยะเวลาการสร้างอุโบสถหลัก นอกจากหลักฐานทางสถาปัตยกรรม หลักฐานสำคัญอีกอันหนึ่งที่ยืนยันได้ว่าวัดอ่างศิลาเป็นวัดที่สร้างสมัยอยุธยาอย่างแน่ชัดก็คือ ใบเสมาหน้าอุโบสถใน ซึ่งจารึกอักษรขอมไว้ ระบุว่า สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๒๔๓

          วัดอ่างศิลาวัดนอก
         ภาพจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์นอก วัดอ่างศิลา ชลบุรี เขียนในปี พ.ศ. ๒๓๖๘ โดย นายเอี่ยม กับ นายแดง ทั้งสองคนมาจากวัดสามปลื้ม (วัดจักรวรรดิในปัจจุบัน) เขียนในปี พุทธศักราช ๒๓๖๘ ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๓๖๗-๒๓๙๔) ข้อความที่จารึกไว้เป็นอักษรขอมไทย พอจะสรุปความได้ว่า อุโบสถนี้สร้างมาหลายปีแล้ว จึงมีการเขียนภาพ จึงเป็นข้อสันนิษฐานว่า อุโบสถนอก คงจะสร้างในราวปี พ.ศ. ๒๓๖๐ การครองราชย์ ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย อยู่ระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๕๒-๒๓๖๗
         ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า โบสถ์นอกนี้ สร้างขึ้นในสมัยแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยสร้างทับของเดิม ที่เป็นอาคารไม้

         โบสถ์วัดนอก ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ในปี พ.ศ. ๒๔๑๑ วันจันทร์ ขึ้น ๔ ค่ำเดือน ๗ ปี มะโรง สัมฤทธิศก (จศ. ๑๒๓๐) และ ผูกพันธสีมาในปี พ.ศ. ๒๔๑๘ วันพุธ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๓ ปีกุน สัปตศก (จศ. ๑๒๓๗) เวลา ๒ โมงเช้า คำบอกเล่าชองพระสุนัย อติธมฺโม อายุ ๖๙ ปี พ่อพระสุนัยบวชที่วัดนอก เล่าว่า มีรายชื่อ สมภารวัดนอกดังรายนามนี้ หลวงพ่อแตง ,คุณพ่อแจ้ง,พระอธิการหลี หลวงปู่แตง ท่านเป็นอาจารย์ หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย คลองด่าน, หลวงปู่แตง ท่านมรณภาพในขณะนั่งเจริญพระกรรมฐาน (ข้อมูลจาก: เฮียจู๊ด หลาน ก๋งกิมซือ ศุภโชค (สังข์สุวรรณ) ลูกศิษย์หลวงพ่อแตง) คุณพ่อแจ้ง ลาสิกขาบท มีครอบครัวชื่อ ยายสายบัว อยู่หางเขาสามมุก, หลังจาการรวมวัดนอกวัดใน เป็นวัดอ่างศิลา ได้ ๑ พรรษา พระอธิการหลี ก็ลาสิกขาบท หลวงปู่แตงอุปสมบท พ.ศ. ๒๓๖๒ มรณะภาพ พ.ศ. ๒๔๓๕ อัฐิอยู่ในเจดีย์เล็กๆ ณ.ที่พักสงฆ์ หน้าวัดอ่างศิลา(ข้อมูล คุณธีรยุทธ ตันไพศาล เฮียจู๊ด) หลังหลวงพ่อแตงมรณภาพ ๒๔ ปี ก็มีการรวมวัด เมื่อพศ.๒๔๕๙ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้เสด็จตรวจราชการคณะสงฆ์ทางเรือ ผ่านตำบลอ่างศิลา จึงเสด็จประทับ ณ ตำหนักมหาราช (ตึกขาว)ประทับอยู่
๓ วัน ทรงเสด็จไปแสดงพระธรรมเทศนาที่วัดอ่างศิลาทุกคืนทรงทอดพระเนตรเห็นวัดนอกมีเสนาสนะทรุดโทรม จึงทรงพระดำริอยากให้รวมกันเป็นวัดเดียวกันเสีย เพื่อเป็นการสามัคคี

         วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๕๙ …กรมวชิรญาณวโรรส ได้เสด็จถึงตำบลอ่างศิลานี้ พบวัดในกับวัดนอกอยู่ติดกัน ตรวจดูวัดทั้งสอง เห็นเจริญไม่ทันกัน วัดในเจริญกว่าวัดนอก พระสงฆ์ก็ผิดกันดังที่เคยเห็นมาแล้วในที่อื่น เป็นเช่นนี้เพราะถือพวกไม่เอาอย่างกัน การถือพวกนั้นอาจจะเป็นกันไปถึงชาวบ้านในตำบล
หาดีไม่ ถ้าได้รวมวัดในกับวัดนอกเป็นวัดเดียวกัน ความปรองดองกันในระหว่างพระสงฆ์ ตลอดจนถึงชาวบ้านจะได้เป็นวัดเดียวกัน ความเจริญจะได้เป็นไปพร้อมกัน ต่างจะได้อาสัยกำลังกันในการทำพิธีก็ดี ในการเทศนาก็ดี ในอุโบสถสังฆกรรมก็ดี ยังมีข้อขัดแต่ทางเกวียนผ่านไปในระหว่าง แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดรับจะย้ายทางเกวียนยอมให้เปิดเขตวัดถึงกันเพราะเหตุนั้น เราจึงสั่งให้รวมวัดในกับวัดนอกเป็นวัดเดียวกัน เรียกชื่อตามตำบลว่า วัดอ่างศิลา ให้พระครูสุนทรธรรมรส เป็นเจ้าอาวาสปกครองทั่วไป ให้พระอธิการหลี เจ้าอาวาสวัดนอก เป็นฐานานุกรมของพระครูสุนทรธรรมรส ให้รวมกันทำอุโบสถสังฆกรรมในอุโบสถเดียวกัน ตามแต่จะเลือกเอาอุโบสถไหน เหลืออีกแห่งหนึ่งให้ใช้เป็นวิหาร ให้รวมกันทำพิธีบูชาพิเศษ และมีเทศนาประจำวันพระ รับทานบริจาคของทายก ในที่แห่งเดียวกันส่วนพระสงฆ์ให้อยู่กระจายกันทั้งสองสำนัก เพื่อจะรักษาเสนาสนะ และถาวรวัตถุให้คงอยู่ (ข้อมูลจาก: เพจวัดอ่างศิลา)

วัดอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๕๙
กรม วชิรญาณวโรรส 

แกลลอรี่

แผนที่