จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ : วัดใต้ต้นลาน

           ผนังด้านในมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง แบ่งออก ๕ แถว ตอนบนสุด ๔ แถวเป็นภาพเทพชุมนุม และห้องภาพแถวที่ ๕ อยู่ระหว่างช่องหน้าต่าง
เป็นภาพพุทธประวัติ เริ่มต้นเล่าเรื่องจากผนังทางด้านทิศเหนือตั้งแต่ตอนประสูติจนถึงตอนที่นางตัณหา นางราคาและนางอรที่ ๓ ธิดามารมารำ
ประโลมล่อพระพุทธองค์ผนังด้านทิศตะวันออกเป็นภาพตอนมารวิชัย ผนังทางด้านทิศใต้เป็นตอนเสวยวิมุตติสุขจนถึงตอนเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน
และโทณะพราหมณ์แบ่งพระบรมสารีริกธาตุแก่พราหมณ์และกษัตริย์ ๘ พระนคร ด้านหลังพระประธานแบ่งภาพออกเป็น ๓ ส่วน ตรงกึ่งกลางเป็น
ภาพอุทเทสิกเจดีย์ ด้านซ้ายเป็นภาพเสด็จโปรดพระพุทธมารดาและจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ต่อเนื่องจนถึงตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ด้าน ขวาเป็นภาพตอนแสดงยมกปาฏิหาริย์ ส่วนตอนล่างเป็นภาพอบายภูมิ ข้อสังเกตของภาพจิตกรรมฝาผนังวัดใต้ต้นลาน คือ ตอนเสวยวิมุตติสุข
ทำเป็นภาพพระพุทธองค์ประทับยืน อันอาจหมายถึง จงกรม แทนที่จะ ประทับนั่ง ตอนเสด็จดับขันธ์ปรินิพานทำเป็นภาพโลงสี่เหลี่ยมมีพระบาททั้ง ๒
ยื่นพ้นโลงออกมา แทนภาพ พระบรมศพของ ลักษณะคล้ายกับภาพจิตกรรมของวัดสายชล ณ รังสี จังหวัดฉะเชิงเทรา บานประตูด้านในมีภาพจิตกรรม
เป็นภาพเทวดาประทับยืนพนมมืออยู่บนแท่นมีรูปบุคคลแบก ลักษณะของภาพลอกเลียนและ ปรับปรุงรูปแบบมาจากภาพทวารบาลของวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี บานหน้าต่างเป็นรูปเทวดา ประทับยืนพนมมืออยู่บนแท่นมีช่อดอกไม้ร่วงประดับ รอบพระอุโบสถเป็นลานประทักษิณมีกำแพงแก้วก่ออิฐถือปูน
ล้อมรอบ ด้านหน้ามีรูปปั้นยักษ์ขนาดใหญ่ และระหว่างอุโบสถกับกำแพงแก้วด้านข้างมีซุ้ม ประดิษฐานใบเสมาทรงสถูปด้านละ ๕ ซุ้ม
          กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน วัดใต้ต้นลาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๖ ตอนที่ ๒๖ ลงวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒ พื้นที่โบราณสถานประมาณ ๓ ไร่ ๒ งาน ๖๔ ตารางวา           

แกลเลอรี่

แผนที่