ประวัติการทอเสื่อจันทบุรี

          จันทบุรี เป็นหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออกของประเทศ สภาพทางภูมิอากาศอยู่ใกล้ทะเล โดยมีทั้งเขาสระบาปเขาสอยดอยกั้นไว้ระหว่างทะเลกับพื้นดินใหญ่ จึงทำให้ฝนตกค่อนข้างชุก อาชีพหลักดั้งเดิมของประชาชนก็คือการทำนา ทำสวนผลไม้ การทำประมง ปัจจุบันอาชีพสำคัญอีกชนิดหนึ่งคือการทำเหมืองพลอย และอาชีพดั้งเดิมอีกชนิดหนึ่งคือ การทอเสื่อ
          จากสภาพที่เป็นเมืองชายฝั่งทะเล อาณาบริเวณพื้นที่ราบส่วนหนึ่งซึ่งประชาชนมีอาชีพหลักทำนาด้วยนั้นมีพืชชนิดหนึ่งชอบขึ้น พิชชนิดนั้นได้แก่ กก จากการสอบถามผู้ที่มีอาชีพในการทอเสื่อก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า กก นี้มาจากแหล่งใด แต่กกก็ชอบสภาพดิน-น้ำของที่ราบลุ่มแถบริมทะเลของจันทบุรีมาก ด้วยเหตุนี้แม้ปัจจุบันอาชีพอื่นดูว่าสำคัญมากต่อระบบเศรษฐกิจของจันทบุรี แต่อาชีพทอเสื่อก็ยังอยู่ ประการหนึ่งนั้นอาจจะเป็นเพราะว่า กก มีคุณสมบัติดี นุ่ม เหมาะแก่การทอเสื่อก็ได้

ประวัติอาชีพทอเสื่อ
          จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบอาชีพทอเสื่อจันทบุรีทราบว่า ชาวจันทบุรีบางถิ่นทอเสื่อกันมานานประมาณร้อยปีเศษ หรือไม่ต่ำกว่าแปดสิบปี กลุ่มผู้ริเริ่มกลุ่มแรกเป็นกลุ่มผู้นับถือศาสนาแคธิลิค หรือเรียกกันว่าชาวหมู่บ้านญวน อาศัยอยู่บริเวณหลังวัดญวน คือวัดคาธอลิค ผู้ทอเสื่อต้องวัตถุดิบ คือ กกและปอจากชาวบ้านต่างตำบลมาจักมาลอกกันเอง เพราะบริเวณหลังวัดไม่มีพื้นที่พอจะปลูกกกปลูกปอได้ การซื้อกกในสมัยก่อน ผู้ซื้อต้องไปตัดหรือเกี่ยวกกจากนากกด้วยตนเอง ถ้าเป็นผู้มีเงินบ้างก็อาจจ้างผู้อื่นตัดกกให้ได้ ช่วงเวลาตัดกกและจักกกใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนจึงจะแล้วเสร็จ กล่าวคือ ผู้ทอจะไปตัดกกให้ได้จำนวนเพียงพอที่จะจักภายใน ๒-๓ วัน เมื่อจักกกหมดรวมทั้งผึ่ง-ตากกกให้แห้งสนิทแล้วจึงออกไปตัดกกอีก สลับกันไป จนหมดกกในนา ถ้าไม่ทำเช่นนี้ กกที่ซื้อไว้ในนากกจะแก่หมด เท่ากับว่ากระบวนการเตรียมเกี่ยวกับกกนี้ต้องเสียเวลาเป็นเดือน เป็นการเตรียมวัตถุดิบให้เพียงพอที่จะใช้ทอไปจนครบรอบปี จนถึงรอบที่จะเตรียมกกใหม่ จากนั้นจึงลงมือย้อมสีกก แล้วจึงถึงเวลาที่จะทอเสื่อ ช่วงเวลาดังกล่าวนี้ทำให้ผู้ทอเสื่อเสียเปรียบพ่อค้า กล่าวคือ ช่วงเตรียมกก เตรียมปอ ผู้ทอไม่มีโอกาสได้เงิน ไม่มีเสื่อออกสู่ตลาด เพราะฤดูกาลทำให้ผู้ทอทุกคนต้องวุ่นวายกับการเตรียมวัตถุดิบดังกล่าว ครั้นถึงช่วงเวลาที่ลงมือทอกันทุกบ้าน เสื่อจึงทะลักออกมาประดังกันในตลาด ร้านขายเสื่อในขณะนั้นก็มีน้อย พ่อค้าคนกลางจึงถือโอกาสกดราคาเสื่อซึ่งผู้ทอก็จำใจต้องขาย
            

อ้างอิงจาก: 
โครงการศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางแสน.  (๒๕๒๓).  การศึกษาเรื่องการทอเสื่อจันทบุรี.  ชลบุรี : โครงการศูนย์ส่งเสริม            วัฒนธรรมภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางแสน.