ประเพณีการแข่งเรือวัดจันทนาราม

        สมัยก่อนประเพณีการแข่งเรือ เป็นที่นิยมกันมากโดยเฉพาะงานทิ้งกระจาดแล้วได้สูญหายไปจน
เมื่อประมาณเกือบสิบปีที่ผ่านมานี้ ทางวัดจันทนารามได้จัดให้มีการฟื้นฟูประเพณีเก่าๆ โดยเฉพาะประเพณีการแข่งเรือ ทางวัดได้เชิญเรือจากที่ต่างๆ เช่น ที่วัดบางสระเก้า วัดพลับบางกะจะ และ วัดน้ำรัก ฯลฯ
มาเข้าร่วมประเพณีในการแข่งขันเรือยาวที่วัดจันทนารามนี้ด้วย
        ในการแข่งเรือนี้ แต่ละลำก่อนที่จะทำการแข่งขัน จะต้องมีการเซ่นไหว้แม่ย่านางเรือ เพื่อเป็น
สิริมงคลแก่เรือที่จะทำการแข่งขัน และเพื่อเป็นกำลังใจแก่ผู้พายเรืออีกด้วย สำหรับเรือที่ใช้ในการแข่งขันนั้นจะใช้เรือหางยาว ฝีพายของแต่ละลำจะเลือกคนที่มีร่างกายแข็งแรงเวลาพายจะต้องพายเป็นจังหวะ
คือจะต้องยกพายพร้อมๆ กัน ซึ่งเมื่อได้ไปดูแล้วจะเห็นถึงความพร้อมเพรียง และความสามัคคีของฝีพาย นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความสวยงามอีกด้วย
        ขณะที่ทำการแข่งขันเรือ กองเชียร์ของแต่ละฝ่ายจะยกขบวนกันมาเชียร์ฝ่ายตน โดยมีการเล่น
กลองยาวอยู่ริมแม่น้ำ เพื่อให้พวกของตนมีกำลังใจ เป็นที่สนุกสนานครึกครื้นมาก การแข่งเรือจะจัดแข่งขันในช่วงเทศกาลวันลอยกระทงทั้งนี้นอกจากจะฟื้นฟูประเพณี เชื่อมความสามัคคีแก่หมู่คณะแล้ว
ผู้ที่มาร่วมงานยังมีโอกาสได้ประกอบการกุศล เช่น ถวายผ้าไตรในช่วงของการจัดแข่งเรือด้วย

        ประเพณีท้องถิ่นที่ชาวเมืองจังหวัดจันทบุรีถือปฏิบัติ และสืบทอดกันมา ส่วนนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประเพณีท้องถิ่นของ จังหวัดจันทบุรี นอกจากนี้
ยังมีประเพณีที่แต่ละท้องที่ แต่ละตำบล ภายในจังหวัดจันทบุรีที่ถือเป็นประเพณีปฏิบัติกันภาย ในชุมชนอย่างเช่น ประเพณีการทำบุญข้าวหลามหรือการทำบุญ
หัวสะพาน ของชาวบ้านหนองตาลิ่น ตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่าใหม่ การทำบุญหัวสะพานของชาวหมู่บ้านหนองตาลิ่นนี้ เดิมมีจัดที่หัวสะพานจริงๆ แต่เนื่องจาก
ไม่สะดวกเพราะรถผ่านไป มาจึงได้ย้ายไปจัดบริเวณศาลาพักร้อนกลางหมู่บ้าน จะจัดขึ้นประมาณกลางเดือนอ้าย โดยก่อนถึงวันงานคนในหมู่บ้านแทบทุกบ้าน
จะทำการเผาข้าวหลามกันเป็นการใหญ่เพื่อเตรียมนำไปทำบุญในวันรุ่งขึ้น บางบ้านก็ทำข้าวต้มห่อ
          เมื่อถึงวันรุ่งขึ้น ชาวบ้านทุกครัวเรือนจะนำอาหารหวานคาวไป ทำบุญที่ศาลาพักร้อนกลางหมู่บ้านทั้งนี้ได้มีการนิมนต์พระมาจากวัดต่างๆ จำนวน 9 รูป มาสวดมนต์ หลังจากเสร็จพิธีการทำบุญ ชาวบ้านจะรับประทานอาหารร่วมกันในวันนั้นทั้งวัน หากใครเข้าไปในหมู่บ้านหรือเข้าไปในบ้านใด จะได้รับข้าวหลาม
ติดไม้ติดมือกลับไปด้วยเสมอ เพราะชาวบ้านถือเป็นการทำทาน ด้วยเหตุนี้เองบางครั้งจึงมีคนเรียกการทำบุญหัวสะพานนี้ว่า “การทำบุญข้าวหลาม” ในภาค
เช้าจะมีพิธีการทำบุญกรวดน้ำ แผ่ส่วนกุศลให้กับดวงวิญญาณที่สิงสถิตย์อยู่บริเวณสะพาน ไม่มีการละเล่น แต่พอถึงกลางคืนจะมีการแสดงละครชาตรี ซึ่งเหมามาแสดงให้คนในหมู่บ้านชม ส่วนมากมักจะหามาจากบ้านบางกะไชย ซึ่งเรียกว่าเป็นดงละคร เพราะคนในหมู่บ้านบางกะไชยชอบเล่นละครชาตรีกันแทบทุกครัวเรือน หนุ่มสาวในหมู่บ้านจะได้มีโอกาสพูดคุยกันในตอนกลางคืนอีกด้วย งานจะเลิกประมาณ 24.00 น. 

ข้อมูลจาก: สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดจันทบุรี