ครกหินอ่างศิลา

ประวัติความเป็นมา

     ศิลาประกอบด้วยหินอัดเป็นประเภทหินแกรนิตและหินทราย หินแกรนิตที่พบแทรกตัวขึ้นมาสลับระหว่างหินชัน ซึ่งพบมากตามแหล่งที่เป็นเขาติดกับฝั่งทะเล และจากการที่มีหินแกรนิตซึ่งมีสีขาวนวล, สีเหลืองอ่อนและมีความแข็งแกร่งจำนวนมากที่ตำบลอ่างศิลาทำให้เกิดอาชีพการทำครกหินและกลายเป็นสัญลักษณ์ของหมู่บ้านชาวประมงอ่างศิลา สภาพหมู่บ้านตำบลอ่างศิลาเดิมเรียกว่า “อ่างหิน” เนื่องจากมีอ่างหินขนาดใหญ่ตั้งอยู่ภายในหมู่บ้านอาชีพที่สำคัญของชาวตำบลอ่างศิลา นอกจากการทำประมงทางทะเล ทอผ้าแล้วอาชีพที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ อาชีพแกะสลักหินเมื่อกล่าวถึง “อ่างศิลา” สิ่งแรกที่คนทั่วไปจะนึกถึงก็คือครกหิน เพราะครกหินเป็นสัญลักษณ์ของสินค้าพื้นเมือง ที่นำชื่อเสียงมาให้แก่ ชาวตำบลอ่างศิลาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเนื่องจาก ครกหินอ่างศิลามีจุดเด่นอยู่ที่หินมีความแข็งแกร่ง ตำแล้วไม่เป็นทรายและมีสีขาวนวลหรือเหลืองอ่อน นอกจากการทำครกหินแล้วชาวตำบลอ่างศิลายังนำหินมาแกะ สลักเป็นรูปต่างๆ เช่นรูปเจ้าแม่กวนอิม พระพุทธรูป ซึ่งมีความสวยงามมากมีคนจีนอพยพและมาอาศัยอยู่ในตำบลอ่างศิลาซึ่งต้องการทำของต่างๆ เช่น อาหารขนมเครื่องเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่มีส่วนผสมที่ทำมาจากข้าวแล้วนำมาบดให้ละเอียดเป็นแป้ง คนจีนเหล่านั้นจึงหาวิธีที่จะนำหินมาทำโม่เพื่อโม่แป้งและเห็นว่าอ่างศิลามี หินที่เหมาะสมที่จะทำโม่ จึงสกัดหินมาเพื่อใช้ทำโม่ และเมื่อมีเศษหิน เหลือชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่ไม่สามารถทำโม่ได้แล้วจึงลองนำมาทำครกหินดูเพื่อ ใช้ตำน้ำพริก และหรือบดของอื่นๆ จนกระทั่งกลายมาเป็นของใช้ประจำบ้านอย่างหนึ่งแต่เดิมครกที่ทำที่ตำบลอ่างศิลาจะไม่มีการซื้อขายครกกันในพื้นที่ของตำบลแต่จะนำไปส่งขายที่ กรุงเทพฯ หรือ ต่างจังหวัด ดังนั้นชื่อเสียงของครกหินอ่างศิลาจึงเป็นที่รู้จักของชาวกรุงเทพฯ และคนในจังหวัดอื่นๆ เป็นอย่างดีต่อมาความต้องการสินค้าประเภทครกหินเพิ่มมากขึ้นอาชีพการทำครกหินก็มากขึ้น จนบ้านอ่างศิลาได้ถูกสกัดหินนำมาใช้จนหินมีปริมาณเหลือน้อย ดังนั้น จึงนำหินจากต่างจังหวัดเข้ามาทำครกหินกันใน
ตำบลอ่างศิลา รวมทั้งมีการปรับปรุงรูปแบบและมีเอกลักษณ์เป็นการเฉพาะตัวคือ “ครกหินอ่างศิลาจะต้องมีสองหู” เท่านั้น

ช่างแกะสลักหินอ่างศิลา (ทำครก)
        การแกะสลักหินอ่างศิลาหรือภาษาช่างพื้นถิ่นที่นี่เรียกว่า“ตีหิน” เป็นหัตถกรรมพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันดีของประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะ “การตีครก” หรือ “การแกะสลักครก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์พื้นบ้านดั้งเดิมของอ่างศิลามาแต่ครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา และมีชาวบ้านในหลายครัวเรือนได้ใช้เวลาว่างจากการทำประมงมาตีหินทำครกเพื่อเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง หรือมีอีกหลายครัวเรือนได้หันมาประกอบอาชีพตีหินนี้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน

        การแกะสลักหินอ่างศิลา เป็นภูมิปัญญางานช่างที่มีจุดกำเนิดบริเวณแหลมแท่น ตำบลแสนสุข
อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี (แต่เดิมเรียกว่าตำบลบางพระ)  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า
เจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) เมื่อครั้งพระศิลาการวิจารณ์มาทำศิลาในการพระพุทธรัตนสฐานที่แหล่มแท่น โดยได้อาศัยการสกัดหินแกรนิตตรงโขดหินบริเวณชายหาดออกเป็นก้อนๆ แล้วจึงขนย้ายเข้ากรุงเทพฯ การทำหิน
ในครั้งแรกนั้นจะเป็นการสกัดหินออกไปเพื่อใช้เป็นวัสดุในการก่อสร้างสถาปัตยกรรมเป็นหลัก จนต่อมา
ในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีชาวจีนได้อพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ตรง
แหลมแท่น และได้ริเริ่มสกัดโขดหินตรงแหล่มแท่นออกมาใช้ทำเป็นป้ายฮวงซุ้ย โม่หินเป็นชิ้นงานในระยะแรก
          การแกะสลักหินในรูปผลิตภัณฑ์ครกมีพัฒนาการต่อมาที่อ่างศิลาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือก่อนหน้านั้นเล็กน้อยด้วยการอาศัยหินแกรนิตที่อ่างศิลาที่มีเนื้อหินเป็นเหล็กเพชร เมื่อนำมาทำเป็นครกแล้วจะออกสีเนื้อมันปูหรือออกทางสีขาวนวลอย่างสวยงาม ส่วนรูปแบบของครกนั้นมีที่มาจากการดัดแปลง
รูปทรงจากกระถางธูปไหว้เจ้าของจีนซึ่งมีจุดสังเกตคือมีปุ่มนูนสองข้างครกหรือที่เรียกว่าหูอย่าง
เด่นชัด นอกจากนั้นช่างที่อ่างศิลายังได้พัฒนาปรับปรุงรูปแบบครกให้มีลักษณะเป็นรูปทรงอื่นๆ อีกหลายแบบ ได้แก่ ครกขา ครกกะเบือ ครกฟักทอง และครกฟูเกลียวพร้อมไปกับออกแบบลวดลายแกะลงบนตัวครก เช่น ลายกระจัง ลายกงจักร ลายธรรมจักร ลายตาอวน (ลายข้าวหลามตัด)ลายเกลียว ฯลฯ

DSC_0118
ช่างแกะครกหินอ่างศิลา

        นายสมบูรณ์ รอดทอง อายุ ๖๒ ปี (ปี ๒๕๕๗) ช่างแกะครกหินอ่างศิลา อุปนิสัยเป็นคนอารมณ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส่ พูดจาเป็นกันเอง เปิดร้านขายครกหินที่
อ่างศิลา และเป็นคนแกะสลักครกหิน ทำมาประมาณ ๔๐ กว่าปี ชึ่งปัจจุบันมีลูก ๔ คนแต่ไม่มีใครสืบทอดทางด้านนี้เลย ชึ่งคุณสมบูรณ์กล่าวอีกไม่นานครกหินอ่างศิลา
จะสูญหาย

 เครื่องมือและอุปกรณ์แกะสลักหิน
        เครื่องมือแกะสลักหินใช้ทำครกแบบดั้งเดิมของช่างพื้นบ้านอ่างศิลาและใกล้เคียงมีลักษณะไม่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่เน้นการใช้ด้วยมือเป็นหลัก 
ไม่มีเครื่องมือทุ่นแรงมากนัก และมีเครื่องมืออุปกรณ์บางตัวช่างต้องทำมันขึ้นมาเพื่อใช้ประจำตัวเพื่อให้สามารถหยิบจับได้ถนัดคือและไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย
อีกด้วย โดยเครื่องมือที่ใช้ด้วยมือของช่างอ่างศิลาสามารถจำแนกตามชื่อเครื่องมือแบบพื้นบ้านดังนี้

DSC_0024
ไม้บรรทัด

๑. ไม้บรรทัดฉาก ไม้บรรทัดฉากหาจุดกึ่งกลางของก้อนหินแล้วใช้วงเวียนและหมึกจีนวาดเส้นรอบวงของครกและปากครก เป็นสองเส้น

DSC_0009
เครื่องเจียร

๒. เครื่องเจียร

DSC_0027
ค้อน

๓. ค้อน

DSC_0035
สิ่ว

๔. สิ่ว

DSC_0043
ลิ่มเหล็กกล้าตัวด้านกลม

๕. ลิ่ม เหล็กกล้าตัวด้ามกลม ส่วนปลายแบนใช้สำหรับผ่าหิน

DSC_0108
หมึกจีน

๖. หมึกจีน

หินที่ใช้ตีครกมี ๓ ชนิด ตือ
              ๑. หินสีแดง เป็นหินอิตาลี
              ๒. หินสีดำ หินอ่างศิลา หินนี้ซื้อมาจากจังหวัดตาก
              ๓. หินสีดำมากๆ เป็นหินแอฟริกา

การผ่าหิน
         การผ่าหิน กรรมวิธีผ่าหินเมื่อก่อนไม่มีการใช้ระเบิดเพื่อการย่อยหิน หรือเครื่องมือกล (Power tools) เพื่อการสกัด ผ่าหิน แกะสลัก ฯลฯ เช่น
ทุกวันนี้ หากแต่ขั้นตอนในการทำงานจะใช้เครื่องมือ
ที่คิดขึ้นจากภูมิปัญญาของช่างเอง หรือใช้เครื่องมือที่ใช้ด้วยมือ (Hand tools) เป็นอุปกรณ์หลัก เช่น 
การผ่าหิน ก็จะนำ“ลิ่ม” มาเจาะรูลงบนหินให้เป็นแนวตามขนาดยาว (กว้าง) ของก้อนหิน (แผ่นหิน) ก่อนแล้วจึงใช้“จั๋ม” (เหล็กสกัด) เจาะรูให้ลึกลงไป หลักจากนั้นจึงใช้เหล็กลิ่มอัดด้วยการใช้ค้อนใหญ่ตอกให้ก้อนหินแตกออกจากกันเป็นก้อนย่อมๆ

DSC_0045
แบ่งแนวเส้น
การผ่าหิน

        การผ่าหินอีกแบบหนึ่งเป็นการผ่าหินขนาดใหญ่มีการใช้เครื่องมือกล และเครื่องมือ
ทุ่นแรงเข้าช่วย ได้แก่ เครื่องมือลม ปั๊มลม ลิ่มและปีก หรือ “ลิ่มเบ่ง” เป็นต้น การผ่าหินแบบนี้กรรมวิธีจะต้องเริ่มจากการใช้ค้อนลมเจาะรูนำลงบนหินก่อนเป็นช่วงๆ ไปตามแนวเส้นที่แบ่งไว้ 
รูที่เจาะมีความลึกตื้นจะขึ้นอยู่กับขนาด
ความหนา ความใหญ่ของก้อนหิน (ในการนี้ก่อนเจาะต้องเลือกใช้ก้านเจาะให้เหมาะสมกับความหนาของก้อนหินด้วย) หลังจากนั้นถ้าใช้ลิ่มเบ่งแบบเดิมก็ให้สอดปีกส่วนของปลายแหลม (หรือหัว) ตั้งขึ้นจากช่องที่เจาะไว้แล้วตามด้วยสอดลิ่มไว้ตรงกลางระหว่างปีกให้ครบตามรูที่ได้เจาะวางเข้าไว้ หลังจากนั้นจึงใช้ค้อนปอนด์ (น้ำหนักของค้อนหนักเบาขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนหิน) ตีลงบนโคนลิ่มของแต่ละจุดสลับกันไปมาจนก้อนหินค่อยๆ แยกออกจากกัน กรณีการใช้ลิ่มเบ่งขนาดใหญ่ “ตัวลิ่มและปีก” จะประกอบเป็นชุดเดียวกันวิธีใช้เพียงแต่สอดใส่ชุดอุปกรณ์นี้ลงไปก็สามารถใช้การได้โดยทันที ไม่ยุ่งยากเหมือนแบบเดิม

        การผ่าหินตามกรรมวิธีแบบเก่า ต้องใช้เวลานานด้วยการทอนหินหรือลดขนาดของหินให้มีขนาดย่อมลง และให้ได้รูปที่ต้องการ กรรมวิธีแบบนี้ยังมีใช้กันอยู่บ้างด้วยไม่ต้องลงทุนมาก และสามารถใช้เครื่องมือที่ใช้ด้วยมือ (Hand tools) แบบพื้นๆ ได้ เช่น ใช้เหล็กสกัดตีลงบนก้อนหินที่ต้องการจะผ่าให้เกิดเป็นหลุมและเป็นแนวตามระยะที่ต้องการจะผ่า แล้วใช้ลิ่มขนาดยาว ๑ ฟุต 
สอดลงไปและพยายามตีลงไปที่โคนลิ่มให้หนักเฉลี่ยให้ทั่ว ตีไปสักพักก้อนหินจะค่อยๆ แตกร้าว
แยกออกจากกัน

        ข้อควรระวัง การใช้แรงตีของค้อนต้องมีน้ำหนักแรงที่สม่ำเสมอ และตีซ้ำๆ ตรงโคนลิ่ม
ให้เฉลี่ยทั่วกันอีกทั้งขณะผ่าหินต้องพยายามสังเกตแนวของหินด้วยว่า แนววิ่งไปทางใดมากที่สุด เวลาผ่าหรือตัดหินให้เน้นไปตามแนวนั้น ซึ่งแนวของหินมีลักษณะเป็นเสี้ยนเกล็ดหินเล็กๆ 
วิ่งไปแนวเดียวกันบ้าง ย้อนกลับบ้าง 
วางขวางบ้างไม่แน่นอน การผ่าหรือตัดหินต้องตีไปตามแนวที่วิ่งไปทางเดียวกันให้มากที่สุด เพราะจะทำให้ตัดหรือสกัดให้ขาดได้ง่ายที่สุด การไม่ตัดหินตามแนวจะทำให้ได้เนื้อหินน้อย เพราะหินจะเสี้ยวไม่เป็นไปตามกำหนด เช่น แทนที่จะเป็นรูปสี่เหลี่ยมกลับไม่เป็นรูปอะไรเลย เพราะหินที่ตัดไว้นั้นเสี้ยวมากไม่สามารถบังคับแนวเส้นที่จะตัดได้ตามขนาดต้องการ

ขั้นตอนการแกะสลักการแกะสลักหินของช่างพื้นบ้านอ่างศิลาและเสม็ด
       เมื่อก่อนมีกรรมวิธียุ่งยากมากเพราะต้องไปสลักหินจากโขดหินชายทะเลที่แหลมแท่นหรือหลังวัดอ่างศิลาเพื่อให้ได้ขนาดของแท่งหินที่ได้ส่วนประมาณยาว
๒ เมตร กว้าง ๑ เมตร หนา ๑ เมตร และสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายออกไปใช้งานได้ หลังจากนั้นจึงนำมาตัดและย่อยเป็นก้อนให้เล็กลงตามลำดับจนได้ขนาดหินสูง ๑๐-๑๒ นิ้ว กว้าง ๑๐ นิ้ว สำหรับทำโม่ ส่วนทำครกมีความสูงประมาณ ๔-๖ นิ้วกว้าง ๗-๘ นิ้ว ส่วนเศษหินก้อนเล็กๆ จะถูกย่อยให้เป็นท่อนสำหรับทำไม้ตีพริก
(สาก) โดยหินที่ถูกย่อยแล้วเรียกว่า “กั๊ก” เป็นขนาดแท่งสี่เหลี่ยมมีขนาดพอเหมาะสามารถนำไปสกัดเป็นครกหรือเป็นโม่ได้ กรณีกรรมวิธีการแกะสลักครกหรือ
ตีครก (ภาษาท้องถิ่น) ตามแบบดั้งเดิมนั้นมีขั้นตอนดังนี้

        ขั้นตอนแรก ต้องสกัด (ตัดหิน) ให้ได้หินที่เรียกว่า “หุ่น” (ก้อนหินเป็นแบบ) ก่อน 
ถ้าจะแกะสลักครก
ก็ต้องมีหุ่นครกเป็นเค้าโครงคร่าวๆ ก่อน เป็นแบบรูปครกตามขนาด
และสัดส่วนโดยรวม  ซึ่งหุ่นจะใช้
แกะสลักครกนั้นจะมีหลายขนาดต่างกันไปตามแต่ความคิดของช่างจะทำครกแบบไหน (ครกขา ครกโบราณครกฟักทอง ครกกะเบือ) มีตั้งแต่ ขนาดปากกว้าง ๒ นิ้ว ไล่ไปจนถึงขนาดใหญ่สุดปากกว้าง ๑๒ นิ้ว การเริ่มต้นแกะสลักครกต้องใช้ “จ๋ำ” (เหล็กสกัด) สกัดผิวหน้าของหินให้พอเรียบเสมอกันก่อน แล้วจึงค่อยโกลนรูปด้านข้างพอให้ได้รูปร่างแบบหยาบๆ ของครกเสร็จแล้วใช้ “จ๋ำ” ตัวเล็กมีปลายแหลม สกัดเก็บแต่งด้านหน้าผิวหินให้เรียบขึ้น (ภาษาช่างท้องถิ่นอ่างศิลาเรียกว่า “แพ้หน้าจ๋ำ” แล้วต่อมาใช้ “พง” (มีรูปคล้ายค้อน ดูตารางที่ ๑) สับผิวหน้าให้เรียบ

การสกัดหิน (ตัดหิน)

        ขั้นต่อไปจึงใช้ไม้ฉาก (ทำจากไม้) และ “ไม้กี๊” มาชุบหมึกจีนลากเส้นตรงตัดกันเพื่อหาศูนย์กลางให้ได้แล้วจึงนำวงเวียนไม้ไผ่  (แบบโบราณ) จุ่มหมึกจีนตั้งให้ได้ศูนย์กลางแล้วลากตามความกว้างและความยาวที่ต้องการโดยมีสายเชือกเป็นตัวกำกับระยะให้ได้ส่วน

ใช้ไม้ฉาก และ “ไม้กี๊” มาชุบหมึกจีนลากเส้นตรงตัดกันเพื่อหาศูนย์กลาง

        ขั้นตอนที่สอง ใช้เหล็กสกัด (สกัด) เจาะลงไปในหุ่นที่ลากเส้นกำกับขนาดไว้ให้เป็นหลุมลงไปโดยขั้นนี้อาจใช้จ๋ำใหญ่มาสกัด พอขุดลงไปสักระยะหนึ่งพอได้ขนาดก็ใช้เหล็กสกัด
ที่เรียกว่า “แต้” สกัดผิวนอกครกให้เป็นทรงอย่างต้องการ และควรใช้ “กี๊” เชือกวัดวาด
รอบครกเพื่อกำหนดความสูงของครก (จากปากถึงก้น) ไว้เป็นแนวสำหรับตัดก้นครกให้เรียบร้อย เพื่อตัดก้นครกพอได้ขนาดแล้วจึงใช้ “พง” สับหรือเคาะผิวให้เรียบร้อยอีกครั้งก็เป็นอันเสร็จสมบูรณ์

เคล็ดลับเชิงกลวิธี การแกะสลักครกต้องเริ่มจากด้านในก่อนโดยเจาะให้เป็นหลุมลึกลงไปตามขนาดที่ต้องการ (อาศัยประกอบด้วยสายตา) เหตุที่ต้องแกะสลักจากด้านในก่อนเนื่องจากว่าหินด้านในหนากว่าด้านนอก การเจาะหินลงไปกระทำได้ยากต้องใช้แรงในการตี หากตีแรงโดยไม่ระมัดระวังอาจทำให้ครกบิ่นหรือแตกได้ง่าย หรือหากทำด้านนอกก่อนยิ่งทำให้เนื้อหินส่วนที่เป็นปากครกบางยิ่งขึ้น (เพราะควบคุมขนาดความหนาบางของปากครก
ไม่ได้) และเมื่อถึงขั้นตอนเจาะขุดหลุมด้านในแล้วจะทำได้ยากเป็นเท่าตัว

การใช้เหล็กสกัด

        กรณีการขัดผิวหินให้เรียบเมื่อก่อนจะใช้หินทราย หากเป็นด้านในจะใช้ทรายใส่ลงไปในครกแล้วตำจนกว่าผิวครกด้านในจะเรียบเสมอกัน ขั้นตอนนี้ใช้เวลาหลายวันกว่าผิวจะเรียบ ปัจจุบันมีเครื่องทุ่นแรงคือ “เครื่องเจียหิน” ช่วยทุ่นแรงและเวลาได้มากส่วนเคล็ดลับอีกอย่างหนึ่งคือ เวลาแกะสลักครกควรแกะบนพื้นหญ้าด้วยมีแรงสะท้อนน้อยและกันกระแทกได้ดีกว่าพื้นไม้หรือปูน (เพราะมีแรงสะท้อนมากจะทำให้หินที่ถูกแรงตีแตกบิ่นได้ง่ายหรือจะทำให้มือที่แกะสลักแตกเป็นแผล)

การขัดผิวหิน

วิดีโอ ครกหินอ่างศิลา ชลบุรี