พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เปิดตึกประชาธิปก

        เมื่อแรกเริ่มเปิดดำเนินงานในปีพุทธศักราช 2483 โรงพยาบาลพระปกเกล้า มีชื่อเดิมว่า โรงพยาบาลจันทบุรี ต่อมา เมื่อสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 เสด็จมาประทับ ณ วังสวนบ้านแก้ว จังหวัดจันทบุรี ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๓ และครั้งหนึ่งพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมาที่โรงพยาบาลจันทบุรี เพื่อทำแผลที่เกิดจากการถูกของมีคมบาด ภาพที่ปรากฏต่อสายพระเนตร คือภาพโรงพยาบาลเล็กๆ โทรมๆ เป็นที่สะท้อนพระราชหฤทัยยิ่งนัก พระองค์ทรงตระหนัก
พระราชหฤทัยด้วยกุศลจิตว่า อาคารต่างๆ ที่มีอยู่แล้วยังน้อยเกินไป และทรงมีพระราชดำริว่า ตึกผ่าตัด
อันทันสมัย เป็นสิ่งสำคัญที่ควรจะสร้างขึ้นก่อน เพื่อเป็นการช่วยชีวิตประชาชนผู้เจ็บป่วย อย่างทันท่วงที
โดยไม่ต้องเดินทางไปรักษาพยาบาลถึงจังหวัดพระนคร อันเป็นการเสี่ยงชีวิตในระหว่างเดินทาง จึงทรงมี
พระราชเสาวนีย์รับเป็นพระราชภาระ โดยพระราชทานเงินส่วนพระองค์เป็นทุนส่วนใหญ่ไว้ และได้แจ้ง
พระราชประสงค์แก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ รวมทั้งประชาชนทั่วไป กับได้ทรงจัดให้มีการแสดงละคร
ขึ้นที่จังหวัดพระนคร เพื่อหารายได้มาสมทบทุนในการสร้างตึกผ่าตัดหลังนี้ ดังมีรายพระนาม และรายนาม
ผู้บริจาคจารึกในแผ่นไม้ ติดตั้งบริเวณผนังของตึกมาจนถึงทุกวันนี้

        สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์ตึกผ่าตัดเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พุทธศักราช 2498 การก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนตุลาคม พุทธศักราช 2499 ด้านมุขของตึกทำเป็นห้องโถง ประดิษฐานพระบรมรูปโลหะหล่อขนาดเท่าครึ่งองค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า
เจ้าอยู่หัว มีตราศักดิเดชน์ อันเป็นพระนามเดิมของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นตราประจำตึก และพระราชทานนามตึกนี้ว่า “ตึกประชาธิปก” เพื่อ
เป็นพระบรมราชานุสรณ์และอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ยังได้ทรงจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ในการผ่าตัดประจำตึกพร้อมเสร็จ ผู้ออกแบบตึกผ่าตัดคือ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สมาน มันตาภรณ์ ศัลยแพทย์ผู้มีชื่อเสียงและเชี่ยวชาญการผ่าตัดในสมัยนั้น นอกจากเป็น
ผู้ออกแบบแล้ว ท่านยังได้ปรับปรุงระบบงานผ่าตัดของโรงพยาบาลพระปกเกล้า ให้มีวิชาการเทคโนโลยี และเครื่องมือที่ทันสมัยมากขึ้นด้วย ตึกมีความกว้าง
16 เมตร ยาว 20 เมตร สูง 5 เมตร ใต้ตึกเป็นบ่อคอนกรีต เก็บน้ำฝนได้ปริมาตร 800 ลูกบาศก์เมตร ภายในตัวตึกจัดแบ่งเป็นห้องผ่าตัด 2 ห้อง
ห้องดมยาสลบ 2 ห้อง ห้องเข้าเฝือก ห้องพักแพทย์ พยาบาล ห้องน้ำ และห้องสุขา อย่างละ 1 ห้อง         

        ในเวลาต่อมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้เปลี่ยนชื่อโรงพยาบาลจันทบุรี เป็น “โรงพยาบาล
พระปกเกล้า” เพื่อน้อมเกล้าถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดแพรคลุมป้ายชื่อตึกผ่าตัด “ประชาธิปก” และ ป้ายชื่อ “โรงพยาบาลพระปกเกล้า” เมื่อวันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2499 ทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินโดยเครื่องบินพระที่นั่ง จากสนามบินดอนเมือง ลงจอดที่สนามบินอำเภอท่าใหม่ แล้วจึงเสด็จประทับรถยนต์พระที่นั่งมายังโรงพยาบาลพระปกเกล้า ซึ่งเป็นการเสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพระราชกรณียกิจที่จังหวัดจันทบุรีเป็นครั้งแรกของทั้งสองพระองค์ 

ข้อมูลจาก: https://www.facebook.com/prapokklao/