ประเพณีแห่พญายม

ภาพที่ 1 ขบวนแห่งพญายมของสุขาภิบาลบางพระ (ภาพจากหนังสือที่ระลึกงานฉลองศาลเจ้าเก่งเยี่ยงไท้โป๊ยเซียนโจ้วซือ บางพระ ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี)

นพ บรรเจิด (สัมภาษณ์, ๑๒ มกราคม๒๕๕๑) เล่าว่า ประเพณีแห่พญายมได้จัดทำกันมานานเกินกว่า ๗๕ ปี โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อ
         ๑. เป็นการสังเคราะห์ ปล่อยสิ่งเลวร้ายทั้งหลาย เช่น การเจ็บไข้ ความตาย ให้ลอยพ้นไปกับพญายม
          ๒. เพื่อเสริมสร้างความสามัคคี ของประชาชนทั้งสองฝั่งคลอง บางพระ

ประวัติการทำพญายม (นพ บรรเจิด, สัมภาษณ์, ๑๒ มกราคม ๒๕๕๑)

          ๑. นายเป๊ะ-นางหลา บัวเขียว และพรรคพวก ได้เริ่มจัดทำพญายมที่บ้านนายเป๊ะ (หลังบ้านผู้ใหญ่โด่ง-นางเซี๊ยน
ธาราศักดิ์) ห่างจากร้านบางพระซีฟู้ดประมาณ ๑๐๐ เมตร
          ๒. หลังจากนั้น นายอั๊ง นางกิมฮัว บัวเขียว (บุตรและสะใภ้ นายแป๊ะ
ได้สืบสาน การทำพญายม ต่อมาโดยร่วมกับเพื่อนบ้าน)

         ๓. ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๖ การทำพญายม ได้ย้ายมาทำอีกฝั่งคลอง โดยย้ายมาทำที่บริเวณบ้าน นายต๋อย นายเล็ก
นายอิ้น บัวเขียว, นายชม บรรเจิด, นายอำนวย บรรเจิด นายเสนียน นางแล่ม และพรรคพวก เพื่อนบ้านเรือนเคียง ช่วยกันทำ
        ๔. ประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๗ การจัดทำพญายม ได้ย้ายไปทำที่สี่แยกคอเขาบางพระ บริเวณใต้ต้นพุทรา มุมร้าน นายผ่อง-นางพยอม กุระ (ช่องว่างระหว่างร้านนายผ่อง กุระ กับร้านนายหวัง บรรเจิด) และเริ่มทำบุญ และก่อพระทรายตอนเช้า ซึ่งถือเป็นสงกรานต์ วันสุดท้ายของสงกรานต์บางพระ (ตอนบ่ายจึงแห่พญายม) ผู้ที่ร่วมมือกัน ทำพญายม คือ นายผ่อง กุระ, นายอำนายอำนวย บรรเจิด, นายแอ๊ว, นายรวย, นายแกละ, นายออด, นายทอง, นายฮก, นายทรวง-นายไส เสริมศรี, นายเณรและเพื่อนบ้านใกล้เคียง ตลอดจนพนักงานขับรถรับจ้าง และผู้รอรถโดยสารไปหนองตายาย (คอเขาบางพระ-หนองตายาย)
         ๕. ต่อมาเมื่อมีการเวนคืนที่ดิน เพื่อสร้างทางรถไฟ สายฉะเชิงเทรา-สัตหีบ ทำให้พื้นที่คอเขาพระบาท บางพระ ที่เคยเป็นที่ทำพญายม และทำบุญวันสุดท้ายของสงกรานต์ ถูกทางรถไฟด้วย จึงย้ายที่ทำพญายม ไปทำที่เนินห่างจากทางรถไฟประมาณ ๒๐๐ เมตร (ถนนเข้าอ่างเก็บน้ำบางพระฝั่งขวา) ซึ่งเป็นบ้านของ นายอิ้น-นางริด บัวเขียว (ลูกชายนายอั๊ง บัวเขียว) โดยมีทีมทำงานเดิมจากข้อ ๔ ช่วยกันดำเนินการ
         ๖. หลังจากจัดทำพญายมที่บ้านนายอิ้น บัวเขียว ได้ ๒ ครั้ง (๒ ปี) จึงย้ายมาทำที่หน้าบ้านนายทรวง เสริมศรี ซึ่งอยู่ทางเข้าอ่างเก็บน้ำบางพระ อยู่ฝั่งซ้ายของถนน ห่างจากทางรถไฟ ประมาณ ๑๐๐ เมตร โดยมีลูกๆ ของนายทรวง กับเพื่อนบ้านใกล้เคียง และเพื่อนๆ ของนายไส-นายดำ มาช่วยทำ ซึ่งทำให้การจัดทำพญายมแลดูดีขึ้น เพราะระยะหลังๆ มีหน่วยงานราชการท้องถิ่นให้ความสนใจและสนับสนุนบ้าง (นายไส และนายดำเป็นบุตรของนายทรวง)
         ๗. เมื่อนายไส เสริมศรี ถึงแก่กรรมแล้ว นายดำ เสริมศรี น้องชาย นายไส ก็ทำหน้าที่แทน โดยมีพี่-น้อง, ญาติ และเพื่อนๆ รวมทั้งหน่วยงานท้องถิ่นเข้ามาช่วยกัน โดยใช้หน้าบ้านนายทรวงเป็นที่ทำ มีการทำบุญเลี้ยงพระ และก่อพระทราย และมีพิธีแห่พญายมในภาคบ่าย มีงานกองข้าวและปล่อยพญายมในตอนเย็นอย่างที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

ภาพที่ ๒ พญายมปี ๒๕๒๒ (ภาพจากหนังสือที่ระลึกงานฉลองศาลเจ้าเก่งเยี่ยงไท้โป๊ยเซียนโจ้วซือ บางพระ ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี)
พญายม 51-52
ภาพที่ ๓ พญายมปี ๒๕๔๑ และพญายมปี ๒๕๔๒ (ภาพจากหนังสือที่ระลึกงานฉลองศาลเจ้าเก่งเยี่ยงไท้โป๊ยเซียนโจ้วซือ บางพระ ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี)

การทำบุญ (นพ บรรเจิด, สัมภาษณ์, ๑๒ มกราคม ๒๕๕๑)
         การทำบุญ ทำในตอนเช้า ของวันสงกรานต์วันสุดท้าย ที่ท้ายตลาดบางพระ (ตลาดล่าง) หากน้ำลง (น้ำทะเล) ตอนเช้าก็ทำบุญ ฝั่งบ้านไร่ แต่ส่วนใหญ่จะทำบุญเช้าบริเวณฟากคลอง ทางตลาดล่างเป็นส่วนใหญ่ บริเวณหลังบ้านนายเฮ้า จักกะพากถึงโรงทำน้ำปลา นายเลี้ยง (บริเวณหลังร้านอาหาร บางพระซีฟู้ด) ทำบุญก่อพระทรายน้ำไหล และเล่นสาดน้ำ เมื่อมีการทำองค์พญายมที่คอเขาพระบาทบางพระ จึงมีการทำบุญเช้าที่นี่ มีการก่อพระทรายน้ำไหล และฉลองพระทราย ส่วนภาคบ่ายเป็นประเพณีแห่พญายม และงานกองข้าวของชาวสองฝั่งคลองซึ่งถือว่าเป็นวันสุดท้ายของสงกรานต์ บางพระด้วย

ภาพที่ ๔ พญายม ปี ๒๕๔๓ และพิธีบวงสรวงพญายม (ภาพจากรายงานกิจการเทศบาลตำบลบางพระ ประจำปี ๒๕๔๓)