ประชุมคณะทำงานข้อมูลท้องถิ่น ข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค ครั้งที่ 1/2562

        ด้วยคณะทำงานข้อมูลท้องถิ่น ข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค ได้จัดประชุมคณะทำงานข้อมูลท้องถิ่นฯ ครั้งที่ 1/2562
เมื่อวันที่ 27-29 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ณ ห้องประชุม 3106 อาคารบรรณสาร ชั้น 1 สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
จังหวัดนนทบุรี 

เริ่มประชุมเวลา 13.00 น. 
        นางวรนุช สุนทรวินิต ผู้อำนวยการสำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  กล่าวต้อนรับคณะทำงาน และ
นายชัยวัฒน์ น่าชม ประธานคณะทำงานข้อมูลท้องถิ่น ข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค ดำเนินการประชุม ตามระเบียบวาระ
การประชุม และสามารถสรุปรายละเอียดการประชุม ได้ดังนี้ 

1.  โครงการประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 10
        ประธานแจ้งให้ทราบว่า สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมกับข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค (PULINET) กำหนดจัดโครงการประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 10 ภายใต้หัวข้อ Library Transformation in a Disrupted World ระหว่างวัน 8-9  มกราคม 2563 ณ โรงแรมบุรีศรีภู บูติกโฮเต็ล อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีการนำเสนอผลงานทางวิชาการ/การวิจัย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ให้กับบุคลากรในข่ายงานและผู้สนใจทั่วไป โดยจะปิดการ Upload ผลงานสำหรับนำเสนอผลงาน ในวันที่ 30 กันยายน 2562 และ ปิดการลงทะเบียนเข้าร่วมงานภายในวันที่ 16 ธันวาคม 2562 การนำเสนอผลงานวิชาการ/งานวิจัย สามารถนำเสนอได้ใน 3 หัวข้อ คือ
        1.1  การจัดการสารสนเทศ เทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมด้านการบริการสารสนเทศ
        1.2  การบริการสารสนเทศ CRM CEM และ Service design
        1.3  การบริหารองค์กร การจัดการความรู้ 

2.  รายงานผลการดำเนินโครงการตามแผนยุทธศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562
        2.1  คณะทำงานข้อมูลท้องถิ่นได้รับการอนุมัติให้ดำเนินโครงการตามแผนยุทธศาสตร์ปี 2562 จำนวน 2 โครงการ คือ โครงการพัฒนาคลังสารสนเทศดิจิทัลข้อมูลท้องถิ่น ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุน จำนวน 36,200 บาท คณะทำงานได้ดำเนินการนำเข้าข้อมูลในระบบสื่อสาระออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกลเฉลิมพระเกียรติ (OER) แล้ว จำนวน 260 รายการ
        2.2  โครงการพัฒนาศักยภาพคณะทำงานข้อมูลท้องถิ่น คณะทำงานกำหนดให้มีการศึกษาดูงานและปฏิบัติงานภาคสนาม ณ ศูนย์วิทยาพัฒนา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เพชรบุรี ในวันที่ 28 สิงหาคม 256

3.  รายงานผลการดำเนินโครงการพัฒนาคลังจดหมายเหตุดิจิตัล (PULINET Archive)
        ประธานคณะทำงานข้อมูลท้องถิ่น ได้ดำเนินการกำหนดรายละเอียดของ PULINET Memory เช่น การตั้งชื่อ กำหนดหมวดหมู่ เรียบเรียงเนื้อหา/บทนำ และส่งมอบให้กับประธานคณะกรรมการพัฒนาคลังจดหมายเหตุเพื่อนำไปพัฒนาฐานข้อมูลต่อแล้ว แต่เมื่อมีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาคลังจดหมายเหตุ ได้ข้อสรุปว่ายังไม่สามารถเผยแพร่ฐานข้อมูลได้ แต่ทั้งนี้ฐานข้อมูล PULINET Memory นั้น เป็นการเก็บรวมรวมภาพถ่าย ซึ่งระบบจะใช้งานได้ง่ายและคณะทำงานทุกคณะมีความคุ้นเคยอยู่แล้วจากการใช้งานสื่อออนไลน์ต่าง ๆ จึงไม่จำเป็นที่คณะทำงานข้อมูลท้องถิ่นจะจัดอบรมให้กับคณะทำงานคณะต่าง ๆ ภายหลังจากที่ระบบฐานข้อมูลถูกเผยแพร่แล้ว
        ในส่วนของ PULINET Archives นั้น รูปแบบการจัดเก็บข้อมูลยังต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้ตรงกับความต้องการของคณะกรรมการอำนวยการ จึงยังไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้

4.  รายงานการใช้จ่ายงบประมาณ และสถานะทางการเงินของคณะทำงานข้อมูลท้องถิ่น ประจำปี 2562
        ประธานแจ้งต่อคณะทำงานข้อมูลท้องถิ่นว่า ในปีงบประมาณ 2562 คณะกรรมการอำนวยการข่ายงานฯ ได้อนุมัติให้คณะทำงานข้อมูลท้องถิ่นดำเนินโครงการการจัดการสารสนเทศข้อมูลท้องถิ่นจากสื่อบุคคล  ในวงเงิน 29,100 บาท และโครงการพัฒนาคลังจดหมายเหตุดิจิตัลซึ่งทำร่วมกับคณะทำงานเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นงบประมาณสำหรับการจัดอบรม จำนวน 12,950 บาท
        โครงการการจัดการสารสนเทศข้อมูลท้องถิ่นจากสื่อบุคคล นั้นจะเป็นการศึกษาดูงานและปฏิบัติงานภาคสนาม ซึ่งกำหนดไว้ว่าเป็นพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ในวันที่ 28 สิงหาคม 2562 ซึ่งประมาณการค่าใช้จ่ายไว้ประมาณ 12,100 บาท และจะมีงบประมาณคางเหลือประมาณ 17,000 บาท ซึ่งประธานคณะทำงานได้ขออนุมัติที่ประชุมนำงบประมาณนี้ไปจัดพิมพ์หนังสือแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการสารสนเทศท้องถิ่น เพื่อให้เป็นผลงานของคณะทำงานต่อไป โดยมอบหมายให้คณะทำงานจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเป็นผู้ออกแบบและประสานงานกับโรงพิมพ์

5.  ปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะ ในการดำเนินงานของคณะทำงานข้อมูลท้องถิ่นฯ 
        
การนำเข้าข้อมูลในระบบสื่อสาระออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกลเฉลิมพระเกียรติ (OER) มีคณะทำงานบางสถาบันยังไม่ได้บัญชีสำหรับลงชื่อเข้าใช้งาน 5.2 เว็บไซต์คณะทำงานข้อมูลท้องถิ่น ยังไม่มีความคืบหน้าและการปรับปรุงข้อมูลจากคณะทำงานเทคโนโลยีสารสนเทศ จึงมอบหมายให้ประธานประสานงานกับผู้พัฒนาเว็บไซต์ของคณะทำงานเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อขอ Username และ Password เข้าไปแก้ไขปรับปรุงเว็บไซต์เอง และมอบหมายนายทศพล จันทร์พวง คณะทำงานจากมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นผู้ดูแลเว็บไซต์ของคณะทำงาน

มติ ที่ประชุมรับทราบและมอบหมาย 

6.  แนวปฏิบัติที่ดีด้านการจัดการสารสนเทศข้อมูลท้องถิ่น
        
ประธานคณะทำงานได้นำเสนอ ประกาศแนวปฏิบัติที่ดี เรื่อง การจัดการสารสนเทศภูมิปัญญาท้องถิ่นจากสื่อบุคคล ซึ่งรวบรวบรวมได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์จริงในการทำงานของคณะทำงานข้อมูลท้องถิ่นในแต่ละสถาบัน ซึ่งจะนำไปจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มต่อไป

7.  ระดมความคิดเกี่ยวกับโครงการใหม่ที่จะพัฒนาในปีงบประมาณ พ.ศ.2563-2564
        
ประธานคณะทำงาน แจ้งว่า ปัจจุบันคณะกรรมการอำนวยการข่ายงานฯ ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์ใหม่ จึงยังคงให้นำเสนอโครงการให้สอดคล้องกับแผนเดิมไปก่อน ซึ่งคณะทำงานข้อมูลท้องถิ่นเห็นว่า จากการดำเนินงานด้านการจัดการข้อมูลท้องถิ่นที่ผ่านมาคณะทำงานในแต่ละสถาบันมีบริบท เงื่อนไข ข้อจำกัด และความรู้ความสามารถในการดำเนินงานที่แตกต่างกัน ในการจัดประชุมแต่ละครั้งคณะทำงานได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน
มีหลายสถาบันได้นำความรู้ที่ได้ไปปรับประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบริบทของตนเอง ทำให้เกิดผลงานในเชิงประจักษ์ จึงเห็นควรจัดให้มีโครงการพัฒนาศักยภาพคณะทำงานข้อมูลท้องถิ่นขึ้น ซึ่งคณะทำงานจะได้ประโยชน์มากกว่า

8.  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานข้อมูลท้องถิ่น
        
สืบเนื่องจากการรายงานเรื่องแจ้งเพื่อทราบของคณะทำงานแต่ละสถาบัน มีบางสถาบันได้นำเสนอรูปแบบการดำเนินงานข้อมูลท้องถิ่นที่น่าสนใจ
คณะทำงานจึงมอบให้ผู้แทนสถาบันนั้น ๆ ถ่ายทอดความรู้ให้กับคณะทำงาน เพื่อที่คณะทำงานจะได้เรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้กับงานของตนเอง ได้แก่
        นายทศพล จันทร์พวง คณะทำงานจากมหาวิทยาลัยนเรศวร นำเสนอขั้นตอนและวิธีการสร้างเว็บไซต์ด้วย Google site และการพัฒนาแอพลิเคชันบนระบบแอนดรอยด์ด้วย MIT App Inventor 2 (http://ai2.appinventor.mit.edu)
        นางสาวขนิษฐา ทุมมากรณ์ คณะทำงานจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นำเสนอขั้นตอนและวิธีการทำสื่อวิดีทัศน์และสื่อนำเสนอด้วย Powtoon 

9.  การศึกษาดูงานและปฏิบัติงานภาคสนาม ณ ศูนย์วิทยพัฒนา มสธ. เพชรบุรี และพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี จำนวน 3 แห่ง คือ
        9.1  กิจกรรมการทำนา ณ ศูนย์วิทยพัฒนา มสธ. เพชรบุรี เป็นตัวอย่างของการทำกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์วิถีชีวิตท้องถิ่น เรื่อง การทำนา ซึ่งมีทั้งแบบนาโยน และนาดำ โดยให้นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาของจังหวัดเป็นผู้ร่วมกิจกรรม โดยนอกจากการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องขั้นตอนและวิธีการทำนาจากชาวนาตัวจริงแล้ว ยังจัดให้มีการแข่งขันการทำนาขึ้น เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสลงมือปฏิบัติจริง
        9.2  การศึกษาดูงานปูนปั้น บ้านช่างทองร่วง หรือ อาจารย์ทองร่วง เอมโอษฐ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ งานปูนปั้น จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งงานปูนปั้นนี้เป็นงานศิลปะโบราณที่พบได้ในงานกลุ่มพุทธศิลป์ เช่น พระพุทธรูป ส่วนประกอบสำหรับประดับสถาปัตยกรรมต่าง ๆ เช่น หน้าบัน ฐานเจดีย์ ฐานพระพุทธรูป            ภายในบริเวณบ้านได้จัดพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้การทำปูนปั้นแบบโบราณ ซึ่งยังคงอนุรักษ์ทั้งวัสดุ วิธีการและขั้นตอนการทำปูนปั้นแบบโบราณไว้  มีอาจารย์ทองร่วง เอมโอษฐ์ และลูกศิษย์ เป็นวิทยากร เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการอนุรักษ์และถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นงานเชิงช่างและศิลปะของจังหวัดเพชรบุรีไว้ โดยจัดกิจกรรมให้เด็ก เยาวชน และบุคคลทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรม
        9.3  การศึกษาดูงานเรื่องไทยทรงดำ ณ พิพิธภัณฑ์ปานถนอม  ซึ่งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ และองค์ความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรรม ความเชื่อ และวิถีชีวิตของชนกลุ่มไทยทรงดำไว้ อาจารย์ถนอม คงยิ้มละมัย ผู้เป็นเจ้าของ ได้ถ่ายทอดความรู้ด้วยการอธิบายเรื่องราวจากสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ พร้อมด้วยการแสดงให้เห็นจริงในบทบาทต่าง ๆ  นอกเหนือจากนั้น ยังมีตัวอย่างการศึกษาเปรียบเทียบการนำศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นไปใช้ในรูปแบบต่าง ๆ อย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้ผู้ที่จะทำการรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลนั้นจะต้องทำความเข้าใจกับเรื่องราวต่าง ๆ นั้น ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้และตระหนักย้ำให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้การนำเสนอข้อมูลผิดพลาดหรือผิดเพี้ยนไปจากความจริงที่เป็นอยู่

10.  กำหนดการประชุมครั้งต่อไป ประมาณเดือนธันวาคม 2562